อย่าด่วนตัดสินใจ

        กรรมที่บุคคลใดไม่พินิจพิเคราะห์ ไม่คิดให้ถ้วนถี่เสียก่อน แล้วทำลงไป ผลที่เลวร้ายย่อมมีแก่บุคคลนั้น เหมือนความวิบัติแห่งการใช้ยาพิษฉะนั้น


        วันเวลาที่ผ่านไป เราไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ เหมือนดั่งสายน้ำที่ไหลผ่านไปแล้วไม่อาจหวนกลับ ชีวิตเราย่างก้าวไปพร้อมกับกาลเวลาที่จะล่วงไป เราจึงต้องใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ สร้างบารมีให้เต็มที่ เพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้เกิดขึ้นต่อตัวของเราและชาวโลก ด้วยการประพฤติธรรม มีความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน และฝึกฝนอบรมตนเองด้วยการฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพราะเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา คือ “เวลาที่ใจหยุดนิ่ง”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย โสมนัสสชาดก ว่า

“อนิสมฺม กตํ กมฺมํ อนวตฺถาย จินฺติตํ
เภสชฺชสฺเสว เวภงฺโค วิปาโก โหติ ปาปโก

        กรรมที่บุคคลใดไม่พินิจพิเคราะห์ ไม่คิดให้ถ้วนถี่เสียก่อน แล้วทำลงไป ผลที่เลวร้ายย่อมมีแก่บุคคลนั้น เหมือนความวิบัติแห่งการใช้ยาพิษฉะนั้น”

        ปัจจุบันนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในบ้านเมืองของเรา ทั้งเรื่องที่ดี และไม่ดี ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการตัดสินแก้ไขปัญหา บางครั้งอาจมองไม่ลึกซึ้ง เพราะปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องใช้ปัญญาที่ละเอียดแจ่มใสพิจารณาอย่างรอบคอบ การรีบด่วนสรุปตัดสินอะไรง่ายๆ นั้น ไม่ใช่วิสัยของนักปราชญ์บัณฑิต ยิ่งถ้าเหตุการณ์นั้นมีผลกระทบถึงส่วนรวมแล้ว ยิ่งต้องไตร่ตรองให้มาก เพราะถ้าตัดสินผิดพลาด ย่อมเกิดผลเสียหายทั้งต่อตนเอง และส่วนรวมอย่างมากมาย

        ผู้ที่รับผิดชอบในการบริหารหรือเป็นผู้นำ จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีปัญญาแจ่มใส ไม่ประมาทในหน้าที่ ควรทำงานด้วยความสุขุมรอบคอบ ไม่ด่วนได้ใจเร็ว และต้องประพฤติธรรมเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีแก่มหาชน จะได้เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ และเป็นที่เลื่อมใสของทุกคน ถ้าทำงานอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ด้วยคุณธรรมเช่นนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิติเตียนได้

        * ในสมัยหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีวิทยาธรผู้มีฤทธิ์ เหาะมาที่พระราชวังในเวลาเที่ยงคืน เข้าไปในห้องบรรทมของพระมเหสี รุ่งขึ้นพระนางได้กราบทูลพระราชา พระราชาทรงกริ้ว รับสั่งให้พวกเสนาอำมาตย์ออกติดตามทันที ครั้นตะวันขึ้น วิทยาธรได้ไปยืนนมัสการพระอาทิตย์อยู่ที่ป่าช้า พวกทหารเห็นเข้า ต่างวิ่งกรูกันเข้าไปเพื่อที่จะล้อมจับ แต่วิทยาธรเป็นผู้มีฤทธิ์จึงร่ายเวทมนต์สะกดแล้วเหาะหนีไป พวกทหารเข้าใจว่า วิทยาธรเป็นบรรพชิตจึงกราบทูลพระราชา พระราชาฟังดังนั้น ยิ่งทรงกริ้วหนักขึ้นอีก เพราะดำริว่า บรรพชิตเหล่านี้กลางวันเป็นสมณะ แต่กลางคืนกลับกระทำสิ่งที่ไม่ควรเยี่ยงฆราวาส

        เนื่องจากพระราชาไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน จึงสรุปว่าบรรพชิตทั้งหมดคงประพฤติตัวไม่ดีเหมือนกัน ทรงรับสั่งให้ตีกลองป่าวประกาศว่า “หากใครเห็นนักบวชในที่ไหนก็ตาม ให้ขับไล่ออกจากแว่นแคว้นให้หมด” นับตั้งแต่นั้นมา บรรพชิตและนักบวช ไม่ว่าจะเป็นเจ้าลัทธิไหน ต่างถูกขับไล่ออกจากเมืองพาราณสี พากันหนีไปอยู่ในป่ากันหมด ทำให้ไม่มีสมณะผู้ทรงธรรม ที่จะมาให้โอวาทมหาชนอีกต่อไป

        เมื่อไพร่ฟ้าประชาชนไม่มีโอกาสได้ฟังโอวาทและฟังธรรมจากสมณะ คนก็มีจิตใจหยาบกระด้างกลายเป็นคนหยาบคาย ประมาทในการประพฤติธรรม ประมาทในการทำทาน รักษาศีล และการทำความดีต่างๆ บ้านเมืองจึงเกิดความไม่สงบ มีการเข่นฆ่าทำลายล้างกัน การลักขโมยก็เกิดขึ้น ครั้นละโลกไปแล้ว ส่วนมากก็ไปบังเกิดในมหานรก ไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน จะหาคนไปเกิดบนสวรรค์ยากเหลือเกิน เหมือนเขาโคที่มีเพียงคู่เดียวเมื่อเทียบกับขนโคทั้งหมด จนพระอินทร์สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในเมืองมนุษย์ ทำไมผู้มาเกิดบนสวรรค์จึงมีน้อยนัก

        เมื่อเล็งดูด้วยทิพยจักษุ ก็รู้ว่าพระราชาทรงพิโรธนักบวชทุกประเภท จึงขับไล่ออกจากแว่นแคว้นทั้งหมด เหตุเพราะวิทยาธรเพียงคนเดียว ซึ่งวิทยาธรไม่ใช่สมณะ แต่พระองค์ทรงเข้าใจผิด ด้วยไม่ได้ใคร่ครวญให้รอบคอบ จึงทำความผิดพลาดอย่างมหันต์ นอกจากพระองค์ทรงทำบาปกรรมแล้ว ยังพลอยให้ประชาชนต้องทำบาปด้วย พระอินทร์จึงทรงคิดหาวิธีที่จะช่วยให้มนุษย์ได้กลับมาทำบุญ เพื่อจะได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ยามละจากโลกไป

        จากนั้นพระอินทร์ได้เหาะไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เงื้อมเขานันทมูลกะ ทรงเล่าถึงความประสงค์ดีที่มีต่อชาวโลก พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเข้าไปในพระนครพร้อมกับพระอินทร์ ให้พระอินทร์แปลงร่างเป็นชายหนุ่มรูปงามติดตามไปข้างหลัง แล้วพระอินทร์ก็เหาะไปเหนือพระนคร ให้ผู้คนได้เห็นกันทั่วหน้า และลงมากราบแทบพระบาทพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความเคารพเลื่อมใส

        พระราชาทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามชายหนุ่มว่า “พ่อหนุ่มน้อย เธอเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม มีฤทธานุภาพมาก เหตุไฉนจึงมาคอยอุปัฏฐากสมณะผู้แก่เฒ่าเช่นนี้ สมณะรูปนี้มีอะไรดีหรือ” ชายหนุ่มบอกว่าตนเป็นพระอินทร์ แล้วตรัสเตือนว่า “ดูก่อนมหาราช ขึ้นชื่อว่าสมณะทั้งหลาย เป็นผู้มีอานุภาพมาก เป็นผู้ควรแก่การเคารพสักการะ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ไม่มีนาบุญใดจะยิ่งกว่า ถึงร่างกายท่านจะดูแก่ชรา แต่ท่านมีจิตใจสูงส่งน่าบูชาเลื่อมใส มีกาย วาจา ใจสะอาดบริสุทธิ์กว่าผู้ครองเรือนมากมายนัก แม้ข้าพเจ้าผู้เป็นจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยังต้องนอบน้อมต่อสมณะทั้งหลาย แล้วทำไมพระองค์ซึ่งเป็นปุถุชนจึงไม่นอบน้อมต่อท่าน” พระราชาสดับดังนั้นทรงมีพระทัยยินดี จึงทูลถามถึงอานิสงส์ของการนอบน้อมต่อสมณะว่า “ถ้าละจากโลกนี้ไปแล้ว จะเป็นอย่างไร”

        พระอินทร์ตอบว่า “ผู้ใดเห็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีล นมัสการท่านด้วยความเคารพ ผู้นั้นจะได้รับการเคารพยกย่องสรรเสริญในที่ทั้งปวง และจะเป็นผู้ที่มีตระกูลสูง เมื่อละโลกไปแล้วย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์อย่างแน่นอน” แล้วแนะนำต่อไปว่า “ให้พระองค์คบหาแต่ผู้มีปัญญา มีธรรม เป็นพหูสูต เมื่อพระองค์เห็นพระภิกษุสงฆ์ จงหมั่นทำบุญสั่งสมบุญเอาไว้เถิด” พระราชาได้สดับแล้วเกิดความปีติโสมนัส ตรัสว่า “ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะไม่มักโกรธ จะมีจิตประกอบด้วยเมตตา มีจิตเลื่อมใสในสมณะ ผู้ควรแก่การขอ และจะทำการนอบน้อมนมัสการสมณะทั้งหลาย”

        พระราชาทรงกราบไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความเคารพ พระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จเหาะขึ้นไปนั่งคู้บัลลังก์อยู่กลางอากาศ แล้วประทานโอวาทว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์อย่าได้หมิ่นประมาทในสมณะทั้งหลาย ต่อแต่นี้ไป ขอพระองค์ทรงตระหนักเสมอว่า โลกนี้ไม่ว่างเปล่าจากผู้มีคุณธรรม ยังมีสมณะผู้ทรงศีลอยู่ ขอพระองค์ทรงหมั่นให้ทานรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาอย่าได้ขาด แล้วพระองค์จะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา ละโลกแล้วจะมีสุคติเป็นที่ไป”

        จากตัวอย่างข้างต้นนี้ ทำให้ได้ข้อคิดว่า การพิจารณาอะไรด้วยอคติความลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว ไม่พิจารณาให้รอบคอบก่อน จะมีผลร้ายตามมาในภายหลัง แล้วยังเป็นทางมาแห่งบาปกรรม เหมือนดังที่ผู้รู้กล่าวไว้ว่า “ผู้เป็นใหญ่ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนจึงลงโทษ การผลุนผลันลงโทษ ย่อมทำให้ผู้คนเดือดร้อนได้”

        การไม่ให้เกิดความรู้สึกลำเอียงในการตัดสินนั้น ต้องรู้จักทำใจให้เป็นกลางๆ จะเป็นกลางเมื่อนำใจมาวางไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อวางใจหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ได้ ใจจะเป็นกลางๆ ไม่มีอคติ จิตจะบริสุทธิ์ตั้งมั่น เมื่อนั้นความถูกต้องยุติธรรมจะบังเกิดขึ้น จะตัดสินหรือวินิจฉัยเรื่องใด ก็จะถูกต้องตลอดหมด เพราะฉะนั้นให้หมั่นนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ให้ดี ฝึกทำใจให้เป็นกลางๆ ในทุกเรื่อง แล้วใจจะเข้ากลาง เข้าไปถึงพระธรรมกายภายในได้ทุกๆ คน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๑๗๐

ที่มา - http://buddha.dmc.tv