บนเส้นทางของผู้นำ

        บุคคลพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์


        ธรรมกายเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เป็นหลักของชีวิต ถ้าเราได้เข้าถึงธรรมกาย ชีวิตเราจะสมบูรณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม และจะได้รับอานิสงส์ใหญ่ ไม่ว่าเราทำความดีเพียงเล็กน้อย ทำปานกลาง หรือว่ายิ่งใหญ่ก็ตาม มหากุศลจะบังเกิดขึ้นในทุกระดับขั้นตอนของการทำความดี เพราะธรรมกายเป็นต้นแหล่งแห่งบุญ แหล่งแห่งความบริสุทธิ์ จึงสามารถรองรับบุญกุศลได้อย่างดีเยี่ยม การได้เข้าถึงธรรมกายจะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์มีความสุขที่สุด จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกๆ คนจะปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“อกฺโกเธน ชิเน โกธํ อสาธุ ํ สาธุนา ชิเน
ชิเน กทริยํ ทาเนน สจฺเจนาลิกวาทินํ

        บุคคลพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์”

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสอนให้เอาชนะสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ด้วยความถูกต้องดีงาม เอาชนะอกุศลกรรมด้วยการหมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง ให้ทำแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลล้วนๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำที่ดี ต้องรู้จักฝึกตนเองให้พรั่งพร้อมไปด้วยคุณธรรม ต้องรักในการฝึกตัวทุกรูปแบบ เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับของทุกๆ คน ทั้งผู้ใหญ่ ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน

        ผู้นำที่ประพฤติชอบ ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วย อยากจะพึ่งพาอาศัย เพราะพึ่งแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และทำให้เกิดกำลังใจที่อยากจะเป็นคนดีตามไปด้วย เพราะเห็นต้นแบบที่ดี ประเทศชาติบ้านเมืองก็จะมีแต่คนดี มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นผู้นำจึงจำเป็นต้องมีคุณธรรมประจำใจ และต้องหมั่นสำรวจข้อบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

        * เหมือนในสมัยก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระราชาในกรุงพาราณสีมีพระนามว่า พรหมทัต พระองค์ทรงวินิจฉัยคดีโดยไม่มีอคติความลำเอียง ทรงตัดสินคดีความบนพื้นฐานของความถูกต้องยุติธรรม จนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเหล่าอำมาตย์ และข้าราชบริพาร ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระราชาผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม นำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน

        พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ดำรงตนเป็นต้นแบบของผู้นำที่ดี พวกเหล่าอำมาตย์จึงได้แบบอย่างที่ดี เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะช่วยกันแก้ไขด้วยสติปัญญาโดยปราศจากความลำเอียง พระองค์ทรงดำริว่า เราครองราชย์โดยธรรม พสกนิกรก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปัญหาเรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี ตอนนี้เราควรหันมาตรวจสอบข้อบกพร่องของตนเอง หากเรายังมีข้อบกพร่องจะได้รีบแก้ไขปรับปรุง

        ตั้งแต่นั้นมา พระองค์คอยสังเกตว่า จะมีใครกล่าวโทษท่านบ้าง ก็ไม่พบผู้ใดกล่าวโทษของท่านทั้งในที่ลับและเปิดเผย ทุกคนในราชสำนักพากันสรรเสริญคุณของพระองค์ แม้จะลองสอบถามข้าราชบริพารภายนอกถึงข้อบกพร่องของท่านเอง ทุกคนต่างยืนกรานเป็นเสียงเดียวกันว่า “พระองค์ประพฤติชอบแล้ว ทรงมีความยุติธรรมกับทุกคน เหมือนดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างแก่สรรพสัตว์อย่างถ้วนหน้า โดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง”

        จากนั้นพระราชาทรงสอบถามชาวเมืองในพระนคร รวมไปถึงชาวบ้านที่อยู่นอกพระนคร แม้กระนั้น ก็ไม่พบใครกล่าวโทษพระองค์ มีแต่คำสรรเสริญ พระองค์จึงมีพระประสงค์ที่จะเสด็จออกไปสอบถามชาวชนบท โดยปลอมเป็นชาวบ้านนั่งรถไปกับสารถีออกจากพระนครมุ่งไปยังชนบท พระองค์เที่ยวสอบถามเรื่อยไป จนกระทั่งถึงชายแดน ก็ยังไม่พบผู้ใดติเตียนพระองค์ มีแต่คำว่า “ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ขอให้พระราชาของเรา จงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน”

        ฝ่ายกษัตริย์แคว้นโกศลพระนามว่า พัลลิกะ พระองค์ทรงมีพระประสงค์อยากฝึกฝนตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเช่นเดียวกัน ทรงสอบถามถึงข้อบกพร่องของตนกับเหล่าข้าราชบริพาร ก็ไม่มีใครพบข้อบกพร่องของพระองค์ มีแต่กล่าวคำสรรเสริญพระคุณของพระองค์เช่นกัน ท่านจึงปลอมตัวเป็นคนธรรมดา เที่ยวไปตามชนบทกับสารถี จนเสด็จถึงชายแดน กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็ได้มาพบกันในระหว่างทางนั่นเอง

        เนื่องจากถนนในแถบชนบทคับแคบ รถวิ่งสวนกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยอมหลีกทางให้กัน สารถีของพระเจ้าพัลลิกะ จึงบอกให้อีกฝ่ายหลีกทางไป สารถีของพระเจ้าพาราณสีบอกว่า บนรถนี้มีพระราชาประทับอยู่ สารถีของพระเจ้าพัลลิกะ ตอบกลับไปว่า “บนรถนี้ก็มีพระราชาเช่นกัน ขอท่านได้โปรดหลีกทางด้วย”

        สารถีของพระเจ้าพาราณสีคิดว่า ถ้าเช่นนั้น เราควรถามถึงอายุ เพื่อให้รถของพระราชาที่มีอายุน้อยกว่าหลีกทางให้ ปรากฏว่าพระราชาทั้งสองมีอายุเท่ากัน ครั้นถามถึงอาณาเขต ถามถึงกำลัง ยศ ชาติ โคตร ตระกูล ผลคือ ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ครอบครองรัฐสีมาประมาณฝ่ายละ ๓๐๐ โยชน์ มีทุกอย่างเท่ากันหมด

        นายสารถีไม่ละความพยายาม จึงถามถึงศีล และมารยาทของพระราชา สารถีของพระเจ้าพัลลิกะกล่าวถึงพระราชาของตนว่า “พระเจ้าพัลลิกะ ทรงชนะคนกระด้างด้วยความกระด้าง ทรงชนะคนอ่อนโยนด้วยความอ่อนโยน ทรงชนะคนดีด้วยความดี ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี ดูก่อนสารถี ท่านจงหลีกทางให้พระราชาของเราเถิด”

        สารถีของพระเจ้าพาราณสี ถามขึ้นว่า “ท่านกล่าวถึงพระคุณของพระราชาของท่านหรือ” สารถีของพระเจ้าพัลลิกะตอบว่า “ใช่แล้ว” สารถีของพระเจ้าพาราณสีตอบกลับว่า “ถ้าสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นพระคุณละก็ สิ่งที่เป็นโทษจะมีมากเพียงไหน” สารถีของพระเจ้าพัลลิกะถามกลับว่า “แล้วพระราชาของท่านมีพระคุณอย่างไร” สารถีของพระเจ้าพาราณสีประกาศว่า

        “พระเจ้าพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พระราชาของเราเป็นเช่นนี้ มีคุณธรรมเหนือกว่าพระราชาของท่าน ขอท่านจงหลีกทางให้พระราชาของเราเถิด” พระเจ้าพัลลิกะ และสารถีได้ฟังเช่นนั้น ก็รีบหลบรถลงข้างทาง พระเจ้าพรหมทัตจึงให้โอวาทพระเจ้าพัลลิกะว่า “พระราชาควรประพฤติธรรม และดำรงอยู่ในคุณธรรมของผู้นำ” จากนั้นพระองค์ทรงเสด็จกลับกรุงพาราณสี

        จะเห็นได้ว่า บัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ท่านรักในการฝึกฝนอบรมตนเอง แม้เป็นผู้นำของคนทั้งประเทศ ก็ไม่หยุดยั้งในการฝึกตัว เพื่อให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะรู้ว่า ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่ ผู้ที่มาชี้แนะตักเตือนเป็นเสมือนกระจกเงาส่องให้เห็นตนเอง จะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ผู้เป็นบัณฑิตจะไม่หลงในคำสรรเสริญเยินยอ แต่จะยินดีที่จะให้คนอื่นมาตักเตือน มองเห็นคำตักเตือนนั้นเหมือนขุมทรัพย์อันลํ้าค่า ที่จะพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่ความสูงส่งของชีวิตได้อย่างมั่นคง และสง่างาม

        ความสูงส่งของชีวิตอยู่ที่จิตใจที่ดีงาม จิตใจที่ดีงามเกิดจากใจที่ได้รับการฝึกฝนด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสเสมอ การฝึกใจเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นวิธีเดียวที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นจากใจ เพราะความเต็มเปี่ยมของชีวิตที่สมบูรณ์ที่สุดจะต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายที่ละเอียดที่สุดที่มีอยู่แล้วในตัวของพวกเราทุกคน นี่เป็นเป้าหมายชีวิตของทุกๆ คนในโลก ดังนั้น ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งกันทุกๆ คน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๕๗ หน้า ๓

ที่มา - http://buddha.dmc.tv