ไม่มีอะไรสายเกินไป

       บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง


       การปฏิบัติธรรม คือ การฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้งสามอย่างนี้เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของมวลมนุษย์ชาติ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกคนจึงต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงจุดนี้ให้ได้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงตามพุทธประสงค์ เมื่อเราต้องการจะเข้าให้ถึงรัตนะทั้ง ๓ เราต้องเอาใจของเราที่คิดแวบไปแวบมา คิดไปในเรื่องราวต่างๆทั้งหมด นำมาหยุดนิ่งอยู่ตรงฐานที่ ๗ หยุดให้ถูกส่วนทีเดียว พอถูกส่วนเข้า ไม่ช้าก็จะเห็นดวงปฐมมรรคเกิดขึ้น เป็นดวงใสบริสุทธิ์ คล้ายๆกับดวงดาวในอากาศ หรือพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรือพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ใสยิ่งกว่าน้ำ ใสยิ่งกว่าน้ำแข็งใสๆ ใสยิ่งกว่ากระจกเงาที่ส่องหน้า ใสยิ่งกว่าเพชร เป็นความใสบริสุทธิ์ ที่ไม่มีตัวอย่างในโลก

       “ปฐมมรรค” คือ จุดเบื้องต้นที่จะเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ เมื่อเราได้เข้าถึงจุดนี้แล้ว ก็เอาใจหยุดต่อไปอีก ให้ใจหยุดนิ่ง หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง อยู่ที่กลางดวงปฐมมรรคนี้ พอถูกส่วนเข้า ดวงปฐมมรรคจะขยายส่วนกว้างออกไปรอบตัว จะเห็นดวงธรรมดวงใหม่ ผุดเกิดขึ้นมาในกลางหยุดนิ่ง ใสกว่าเดิม สว่างกว่าเดิม ผุดขึ้นมาเป็นชั้นๆ เรียกว่าดวงศีล หยุดในกลางดวงศีล จะเห็นดวงสมาธิ(Meditation)ผุดขึ้นมาในกลางนั้น หยุดในกลางดวงสมาธิ จะเห็นดวงปัญญาผุดขึ้นมา หยุดในกลางดวงปัญญา จะเห็นดวงวิมุตติ หยุดในกลางดวงวิมุตติ จะเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะผุดขึ้นมาอีกดวงหนึ่ง

       พอหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ จะเข้าถึงกายหนึ่ง ซึ่งผุดเกิดขึ้นมาในกลางนั้น ลักษณะเหมือนตัวเรา ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย กายนี้เรียกว่ากายมนุษย์ละเอียด บางครั้งเรียกว่ากายฝัน คือ เมื่อเรานอนหลับสนิทดีแล้ว เราฝันว่าไปพบปะเจอะเจอเหตุการณ์ต่างๆ พอตื่นขึ้นมาเราก็จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง กายที่ออกไปทำหน้าที่ฝันนี่แหละ คือกายมนุษย์ละเอียด เมื่อเราเอาใจหยุดเข้าไปในกลางกายนี้ มองต่อไปอีก หยุดต่อไปเรื่อยๆ พอถูกส่วนกายมนุษย์ละเอียดขยายกว้างออกไป เราจะพบประสบการณ์เหมือนกัน คือมีดวงธรรม ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ผุดเกิดขึ้นมาทีละดวงๆ แต่ละดวงนั้นใสยิ่งกว่าเดิม สว่างมากกว่าเดิม พอสุดดวงวิมุตติญาณทัสสนะ จะเข้าถึงอีกกายหนึ่ง กายนี้สวยงามกว่ากายมนุษย์ละเอียด มีเครื่องประดับประดาพร้อมหมด เรียกว่ากายทิพย์ เป็นกายมาตรฐานของสุคติโลกสวรรค์ ชาวสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น มีกายอย่างนี้

       พอใจหยุดเข้าไปในกลางกายทิพย์ต่อไปอีก กายทิพย์จะขยายส่วนกว้างออกไป จะเกิดประสบการณ์ในทำนองเดียวกัน คือเห็นดวงธรรมเป็นลำดับเข้าไป แล้วเห็นอีกกายหนึ่งเกิดขึ้นมา กายนี้สวยงามมากกว่ากายทิพย์ มีเครื่องประดับประดาละเอียดประณีตหนักยิ่งขึ้น รัศมีก็สว่างขึ้น เรียกว่ากายรูปพรหม รูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น จะต้องอาศัยกายนี้เป็นอยู่ เป็นกายที่อาศัยอยู่ในรูปภพ

       พอใจหยุดเข้าไปในกลางกายรูปพรหมเข้าไปอีก กายรูปพรหมนี้จะขยายส่วนกว้างออกไปรอบตัวทีเดียว เราจะพบดวงธรรมต่างๆซ้อนกันอยู่ในทำนองเดียวกัน เข้าถึงอีกกายหนึ่งที่สวยงามประณีตมากกว่าเดิม เป็นกายที่ได้สัดส่วนมากกว่าเดิม เรียกว่ากายอรูปพรหม อรูปพรหมทั้ง ๔ ชั้น อยู่ในอรูปภพ เมื่อใจหยุดเข้าไปในกลางกายนี้ต่อไปอีก พอถูกส่วนเข้า กายอรูปพรหมขยายส่วนกว้างออกไป เราจะเข้าถึงดวงธรรมต่างๆในทำนองเดียวกัน แล้วเราจะเข้าถึงกายๆหนึ่ง ที่ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ งามไม่มีที่ติ งามกว่ากายอรูปพรหม งามกว่ากายรูปพรหม งามกว่ากายทิพย์ งามกว่ากายมนุษย์ละเอียด งามด้วยความบริสุทธิ์ที่เข้าถึงนั่นเอง

       กายนี้แหละเรียก “พุทธรัตนะ” หรือเรียกว่า “กายธรรม” มีลักษณะสวยงาม นั่งขัดสมาธิอยู่ เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว พูดง่ายๆคือ มีลักษณะเหมือนพระพุทธรูป แต่งามกว่าพระพุทธรูปที่มนุษย์ปั้นขึ้น เพราะได้ลักษณะมหาบุรุษ พุทธรัตนะนี้แหละเป็นที่พึ่งและที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย สิ่งอื่นที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ผี สาง นางไม้ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ เทวดา พรหม อรูปพรหมก็ตาม ล้วนต้องกราบไหว้บูชาพุทธรัตนะนี้ เพราะทั้งหมดนั้นยังอยู่ในภูมิที่ต่ำกว่าพุทธรัตนะ

       ถ้าเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้ว จะมีความสุขอย่างพูดไม่ออก บอกไม่ถูกทีเดียว เป็นความสุขที่ประณีต แตกต่างจากความสุขที่เคยพบ เราจะมีความรู้สึกอบอุ่นใจ มีความรู้สึกปลอดภัย ภัยทั้งหลายไม่กล้ำกราย ไม่ว่าจะเป็นภัยในอบายภูมิก็ดี ภัยในวัฏสงสารก็ดี หรือภัยพิบัติต่างๆ จะไม่เข้ามาแผ้วพาน เมื่อเราอยู่ในกลางรัตนะทั้ง ๓ นี้

       การที่จะเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ นี้ได้ เราจะต้องฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่ง ต้องปลด ต้องปล่อย ต้องวาง ให้ใจของเราปลอดกังวล ว่างเปล่าจากเครื่องกังวลทั้งหลาย ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ให้ใจใสเป็นแก้ว แม้ว่าชีวิตของเราที่ผ่านมานั้น เราอาจจะเผลอพลาดพลั้ง ทำให้กาย วาจา ใจ ของเราไม่บริสุทธิ์ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วอย่าไปนึกถึง ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แต่ในขณะนี้ให้ทำใจของเราให้สะอาดที่สุด บริสุทธ์ที่สุด ผ่องใสที่สุด ทำอย่างนี้ นึกอย่างนี้ ใจจะได้ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย ใจสบายนี่แหละเป็นใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ต่อไป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ภัทเทกรัตตสูตร ว่า

“อตีตํ นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
ยทตีตมฺปหีนนฺตํ อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ

       บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง”

       ชีวิตคนเราทุกคนที่เกิดมานั้น ต่างก็ได้ผ่านชีวิตทั้งดีและไม่ดีมาแล้วทั้งนั้น ถ้าเราสามารถลืมสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายในอดีตได้ แล้วตั้งใจทำความดีเสียใหม่ การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา เหมือนอย่างนายตัมพทาฐิกะ หรือนายเพชฌฆาตเคราแดง ซึ่งมีอาชีพตัดศีรษะนักโทษ ที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต ได้ทำหน้าที่ตัดศีรษะนักโทษนับจำนวนไม่ถ้วนตลอดระยะเวลายาวนานถึง ๕๕ ปี แต่เขาก็สามารถที่จะลืมบาปนั้น ทำใจเป็นกุศล ให้บุญได้ช่องอย่างเดียว ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้เช่นกัน เรื่องของท่านมีอยู่ว่า

       * ในสมัยพุทธกาล มีโจร ๔๙๙ คน เที่ยวปล้นชาวบ้านเป็นประจำ สมัยนั้น มีบุรุษคนหนึ่งมีตาเหลือก      เหลือง มีเคราสีแดง ไปขอสมัครเป็นโจร เพื่อร่วมอุดมการณ์อาชีพโจรด้วย เมื่อนายเคราแดงไปสมัครกับหัวหน้าโจร หัวหน้าโจรพิจารณาดูสารรูปของนายเคราแดงแล้ว ก็คิดว่า “บุรุษผู้นี้ กักขฬะเหลือเกิน ทั้งนัยน์ตาก็เหลือกเหลือง มีเคราแดงผิดมนุษย์ สามารถที่จะตัดนมของแม่ หรือนำเลือดในลำคอของพ่อ เพื่อดื่มกินได้อย่างไม่สะทกสะท้าน นี่คือ บุคคลอันตราย” จึงไม่รับเข้าร่วมอุดมการณ์อาชีพโจร

        แม้นายเคราแดงถูกหัวหน้าโจรปฏิเสธ ก็ไม่ยอมละความพยายาม เพราะอยากประกอบอาชีพโจร จึงหาวิธีที่จะเป็นโจรให้ได้ ด้วยการคอยอุปัฏฐากบำรุงศิษย์คนหนึ่งของหัวหน้าโจร จนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ลูกศิษย์โจรจึงพาไปหาหัวหน้า เพื่ออ้อนวอนให้รับเป็นสมาชิกด้วย เพราะในทีมมีเพียง ๔๙๙ คนเท่านั้น หากท่านหัวหน้ารับเอาไว้อีกหนึ่ง ก็จะกลายเป็นโจร ๕๐๐ การจี้ปล้นทรัพย์ก็จะสำเร็จได้ง่ายขึ้น หัวหน้าโจรทนคำรบเร้าไม่ไหว จึงจำใจต้องรับเอาไว้เป็นสมาชิกด้วย

        เมื่อรับนายเคราแดงเป็นสมาชิกได้เพียงไม่กี่วัน ยังไม่ทันจะได้ออกปล้น โจรทั้ง ๕๐๐ คน ก็ถูกชาวเมืองร่วมกับพวกราชบุรุษจับได้ ตุลาการได้สั่งตัดคอโจรทั้ง ๕๐๐ ทันที เพราะถือว่าเป็นภัยต่อราชสำนักและชาวประชา แต่ก็หาคนที่กล้าตัดคอโจรทั้ง ๕๐๐ ไม่ได้ ตุลาการจึงต่อรองกับหัวหน้าโจรว่า “ให้เจ้าตัดคอลูกน้องทั้งหมดให้ตาย แล้วเจ้าจะรอดชีวิต”

        แต่หัวหน้าโจรไม่ปรารถนาจะฆ่าลูกน้อง เพราะว่าลูกน้องทั้งหมดเป็นที่รักของตน แม้จะเป็นจอมโจร แต่ก็ยึดมั่นในอุดมการณ์ของมหาโจร คือไม่ทำร้ายลูกน้องและพวกกันเอง จึงตอบปฏิเสธอย่างเด็ดเดี่ยว พวกชาวเมืองจึงถามโจร ๔๙๙ คนว่า ถ้าคนไหนกล้าตัดคอพวกพ้องตัวเองให้ตายหมด คนนั้นจะรอดชีวิต ถึงกระนั้นโจรทั้งหมดก็ไม่ปรารถนาจะฆ่าพวกกันเอง ทุกคนยอมตาย แต่ไม่ยอมฆ่าเพื่อน

        ครั้นชาวเมืองถามนายตัมพทาฐิกะผู้มีตาเหลือกเหลือง ซึ่งเป็นคนสุดท้ายว่า สามารถฆ่าพวกตัวเองได้หรือไม่ นายตัมพทาฐิกะก็ตอบตกลงทันที ว่าแล้วก็ใช้ขวานที่คมกริบ ตัดคอโจรทั้งหมดภายในไม่กี่นาที โดยไม่มีความสะทกสะท้านแม้แต่น้อย ทำให้ตัวเองรอดตายมาได้ อีกทั้งได้ความนับถือจากชาวเมืองด้วยการแต่งตั้งให้เป็นเพชฌฆาตเคราแดง ทำหน้าที่ตัดคอโจรที่ตุลาการได้พิพากษาคดีเรียบร้อยแล้ว

        ตั้งแต่นั้นมา เขาจึงเปลี่ยนฉายาจากโจรเคราแดงมาเป็นเพชฌฆาตเคราแดง คอยฆ่านักโทษประหารทีละ ๑ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง ๕๐๐ คนบ้าง เขาฆ่านักโทษประหารรวมแล้วประมาณ ๒,๐๐๐ คน แต่เมื่อแก่ตัวลง เรี่ยแรงเริ่มถดถอย จากที่สามารถตัดศีรษะด้วยการฟันทีเดียวได้ ต้องทุ่มเทเรี่ยวแรงที่มีอยู่ฟัน ๒-๓ ที ทำให้นักโทษประหารได้รับความเจ็บปวด เป็นการทรมานนักโทษมากเกินไป พวกชาวเมืองจึงได้ถอดเขาออกจากตำแหน่งเพชฌฆาต แล้วหาคนใหม่มาทำหน้าที่แทน

        เมื่อนายตัมพทาฐิกะถูกถอดจากการเป็นเพชฌฆาตแล้ว ก็กลับมาพักผ่อนที่บ้าน เนื่องจากช่วงที่อยู่ในหน้าที่นั้น เขาไม่เคยได้นุ่งผ้าใหม่ ไม่ได้ดื่มยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่ ไม่ได้ประดับดอกมะลิ และไล้ทาด้วยของหอมเลย เพราะฉะนั้น พอถูกถอดจากตำแหน่ง จึงตั้งใจว่าจะดื่มยาคูเจือน้ำนม เขาสั่งให้คนนำผ้าใหม่มาให้ ให้คนในบ้านช่วยเตรียมดอกมะลิและเครื่องทาไว้ให้พร้อม จากนั้นก็ไปอาบน้ำที่แม่น้ำ แล้วนุ่งผ้าใหม่ ประดับดอกไม้ ทาตัวด้วยของหอม นั่งพักผ่อนอย่างมีความสุข เตรียมพร้อมที่จะดื่มยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่

        ในขณะนั้น พระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติ พิจารณาว่า “วันนี้เราควรจะไปโปรดใครหนอ” ได้เห็นเพชฌฆาตเคราแดงเข้ามาในข่ายญาณทัสสนะ จึงไปปรากฏยืนอยู่หน้าบ้านของเขา เมื่อนายตัมพทาฐิกะเห็นพระเถระเท่านั้น เขาก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่า “เราได้ทำบาปกรรมมานาน ฆ่ามนุษย์มามากมาย วันนี้ไทยธรรมเราก็พร้อมแล้ว พระเถระก็มายืนอยู่ที่ประตูเรือนของเราแล้ว เราควรถวายทานในเวลานี้” เขาจึงได้น้อมภัตตาหารเข้าไปถวายพระเถระ แล้วนิมนต์ให้ท่านฉันภัตตาหารในเรือนของตน

        เมื่อพระเถระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ได้กล่าวอนุโมทนาแก่เขา แต่เขาไม่อาจทำจิตไปตามพระธรรมเทศนาได้ เพราะมัวกังวลว่า ตนเองได้ทำบาปอกุศลกรรมมามาก ใจที่กังวลหมกมุ่นถึงเรื่องราวในอดีตนั้น เป็นสภาพใจที่ไม่พร้อมจะฟังธรรม ปฏิบัติธรรม หรือเข้าถึงธรรม พระสารีบุตรจึงได้ถามขึ้นว่า “อุบาสก ท่านได้ฆ่าคนตามใจชอบ หรือว่าถูกคนอื่นสั่งให้ทำเล่า” เขาตอบด้วยความซื่อว่า “พระราชาสั่งให้ข้าพเจ้าทำ” พระเถระจึงบอกว่า “อุบาสก เมื่อเป็นเช่นนั้น อกุศลจะมีแก่ท่านได้อย่างไร” เขาจึงคิดว่า “อกุศลไม่มีแก่เรา”

        เมื่อปลอดจากเครื่องกังวลทั้งหลาย ใจก็มีสภาพเป็นกลางๆ ไม่ไปยึดติดในบาปอกุศลที่เคยฆ่าคนเอาไว้ ใจจึงมีความผ่องใส ได้ตั้งใจฟังธรรมจากพระสารีบุตรด้วยใจที่จดจ่อ น้อมใจไปตามคำสอนของพระเถระ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ได้ดำเนินจิตเข้าสู่ภายในเป็นลำดับ จนเข้าถึงโสดาปัตติมรรค ถึงธรรมกายโสดาบัน มีความสว่างไสวอยู่ภายใน จากนั้นพระเถระก็อำลากลับวัดเชตะวัน อุบาสกเคราแดงขอถือบาตรเดินตามส่งพระเถระ เมื่อส่งท่านเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่กำลังเดินทางกลับบ้าน ได้ถูกแม่โคขวิดตายทันทีระหว่างทางนั่นเอง แต่ด้วยความปลื้มปีติในธรรมและอิ่มในบุญที่เพิ่งทำไป เมื่อละโลกก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

        เย็นวันนั้น ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระบรมศาสดา ถึงการจากไปของนายเพชฌฆาตเคราแดง พระพุทธองค์ตรัสว่า “อุบาสกนั้นได้กัลยาณมิตรใหญ่ เขาฟังธรรมจากสารีบุตร ได้บรรลุโสดาบัน ละจากโลกนี้แล้ว ไปบังเกิดในวิมานชั้นดุสิต” พระภิกษุได้กราบทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่เขาทำอกุศลกรรมไว้มาก คุณวิเศษจะบังเกิดขึ้นแก่เขาได้อย่างไร พระเจ้าข้า”

        พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธออย่าถือประมาณแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วว่าน้อยหรือมาก เพราะวาจาแม้คำเดียวที่เป็นประโยชน์ ย่อมประเสริฐโดยแท้ หากวาจาแม้ตั้งพัน ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ วาจาแม้คำเดียวซึ่งบุคคลฟังแล้ว สงบระงับได้ ประเสริฐกว่า”

        พวกเราก็เช่นเดียวกัน ชีวิตที่ผ่านมานั้น เราอาจจะเคยพลาดพลั้ง จะโดยตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เราสามารถเริ่มต้นใหม่ เหมือนนายเพชฌฆาตเคราแดง ผู้มีชีวิตดูเหมือนมืดมนในเบื้องต้น แต่สุดท้ายกลับสว่างไสวได้ เพราะความคิดที่จะเริ่มทำความดี ประกอบกับได้ยอดกัลยาณมิตร คือพระสารีบุตร ชีวิตจึงสว่างไสว ดังนั้นไม่มีอะไรที่สายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นใหม่ อนาคตจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในปัจจุบันนี้ ถ้าเราตั้งใจทำแต่ความดี กลั่นกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ เราย่อมจะพบแต่สิ่งที่ดีๆ ได้บรรลุสิ่งที่พึงปรารถนา มีดวงตาเห็นธรรมกันทุกคน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๔๑๘

ที่มา - http://buddha.dmc.tv