หลุดพ้นจากเวร

      เพราะเหตุใด พวกเธอจึงจองเวรกันอย่างนี้ ถ้าหากพวกเธอไม่มาพบเราแล้ว เวรของพวกเธอจะเป็นเช่นนี้อยู่ชั่วกัป เหมือนเวรของงูกับพังพอน ของหมีกับไม้ตะคร้อ ของกากับนกเค้า เพราะฉะนั้น จงเลิกจองเวรกันเถิด เพราะเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร


      ในชีวิตประจำวันของเรา ต้องพบสิ่งต่างๆ มากมาย มีอารมณ์หลากหลายเข้ามากระทบจิตใจ เราควรจะเลือกเก็บเกี่ยวแต่สิ่งที่ดีเอาไว้ในใจ สิ่งใดที่นึกแล้วทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าหมองไม่ผ่องใส เราก็ไม่ควรนึกถึง เพราะเป็นอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว แม้สิ่งที่เป็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อาจจะนำมาซึ่งความกังวลใจ เราก็ไม่ควรคาดหวังจนเกินเหตุ เพราะจะทำให้เราเกิดความทุกข์ใจ บัณฑิตควรมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ทำวันนี้เวลานี้ให้ดีที่สุด แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

มีพระคาถาบทหนึ่งกล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน

       แต่ไหนแต่ไรมา เวรทั้งหลายย่อมไม่สงบระงับได้ ด้วยการจองเวร เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยความไม่มีเวร นี่เป็นธรรมเก่า”

       พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักการให้อภัยกัน อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เพราะเวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ความจริงนี้เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ไม่ใช่ของใหม่ เกิดขึ้นได้ในทุกยุคทุกสมัย กับบุคคลทุกเพศทุกวัย ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

       * ดังเรื่องในอดีต มีบุตรชายของเศรษฐีคนหนึ่ง เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้ว เขาเป็นผู้บริหารกิจการทั้งหมดแทนบิดา และปรนนิบัติเลี้ยงดูมารดาเป็นอย่างดี มารดาอยากจะให้เขาแต่งงาน แต่ชายหนุ่มไม่ปรารถนาเช่นนั้น ตั้งใจว่าจะเลี้ยงมารดาให้ดีที่สุด แต่ถูกมารดารบเร้ามาก จึงต้องยอมตกลง มารดาได้ไปสู่ขอหญิงจากครอบครัวหนึ่งมาเป็นภรรยาของเขา แต่เธอเป็นหมัน ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ มารดาจึงร้อนใจ เพราะความเชื่อของชาวอินเดียในสมัยนั้น ถ้าตระกูลใดไม่มีบุตร ตระกูลนั้นจะถึงความเสื่อม มารดาจึงอยากให้บุตรชายของตนมีภรรยาใหม่ แต่บุตรชายไม่ต้องการเช่นนั้น แม้จะถูกมารดารบเร้าเพียงใด เขาก็ยังยืนยันว่าไม่อยากมีภรรยาใหม่

       เมื่อภรรยารู้ว่าแม่สามีจะหาหญิงอื่นมาเป็นภรรยาใหม่ของสามีตน จึงคิดว่า “ถ้าถึงเวลานั้น เราก็จะหมดความหมาย อาจจะถูกลดฐานะลงเป็นคนรับใช้ก็ได้ ถ้าอย่างนั้น สู้เราไปหาหญิงที่เราพอใจ ให้มาเป็นภรรยาน้อยของสามีเราจะดีกว่า” แล้วนางก็ได้กระทำตามที่นางต้องการจนสำเร็จ

       ต่อมาภรรยาหลวงระแวงว่า ถ้าภรรยาน้อยให้กำเนิดบุตร เขาก็จะเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติทั้งหมดเพียงผู้เดียว เมื่อความริษยาเกิดขึ้น นางจึงหาทางที่จะไม่ให้ภรรยาน้อยให้กำเนิดบุตร โดยกำชับภรรยาน้อยว่า “ถ้าเธอตั้งครรภ์เมื่อไร ช่วยบอกให้ฉันรู้ด้วยนะ” เมื่อภรรยาน้อยตั้งครรภ์จึงได้บอกภรรยาหลวง นางแสร้งทำเป็นเอาอกเอาใจ นำข้าวปลาอาหารอย่างดีมาบำรุงภรรยาน้อย วันหนึ่งนางได้แอบผสมยาที่ทำให้แท้งลูกลงไปในอาหาร ทำให้ลูกในครรภ์ตายสมใจนาง เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ภรรยาน้อยเกิดเฉลียวใจ จึงไม่ยอมให้ภรรยาหลวงรู้ กระทั่งครรภ์แก่ แต่ภรรยาหลวงก็ยังไม่ละความพยายาม ได้แอบเอายาที่ทำให้แท้งลูกใส่ลงไปในอาหารจนได้ ทำให้ภรรยาน้อยและลูกเสียชีวิตพร้อมกัน

       ก่อนตายภรรยาน้อยได้ผูกอาฆาตว่า “ขอให้เราได้เกิดเป็นนางยักษิณี เราจะมากินลูกของหญิงหมันนี้ในชาติต่อไป” เมื่อตายแล้ว ภรรยาน้อยได้ไปเกิดเป็นแมวอยู่ในบ้านสามี ส่วนสามีพอทราบว่า ภรรยาหลวงเป็นคนทำให้ภรรยาน้อยและลูกเสียชีวิต จึงได้ทุบตีภรรยาหลวงจนตาย ครั้นละโลก นางได้ไปเกิดเป็นแม่ไก่ อยู่ในบ้านนั้นเช่นกัน

       ต่อมาแม่ไก่ออกไข่หลายฟอง แมวก็มาขโมยกินไข่ ครั้งที่ ๒ ก็ทำอย่างนั้นอีก ครั้งที่ ๓ แมวมากินไข่และกินแม่ไก่ด้วย แม่ไก่จึงผูกอาฆาตจองเวรต่อไปอีกว่า ให้เราได้กินแมวและลูกของมันบ้าง ไก่ตายไปได้เกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนแมวเมื่อตายไปแล้วได้เกิดเป็นแม่เนื้อ ครั้นแม่เนื้อออกลูก เสือเหลืองได้มากินลูกเนื้อถึง ๒ ครั้ง และในครั้งที่ ๓ มันกินทั้งแม่เนื้อและลูกเนื้อด้วย แม่เนื้อจึงผูกอาฆาตว่า เกิดชาติหน้า ขอให้ได้กินแม่เสือเหลืองและลูกของมันบ้าง

       แม่เนื้อตายไปได้เกิดเป็นนางยักษิณี ส่วนแม่เสือเหลืองเกิดเป็นหญิงอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี เมื่อเจริญวัยได้แต่งงานและคลอดบุตร นางยักษิณีได้แปลงตัวเป็นมนุษย์เข้าไปจับทารกกินถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ เมื่อหญิงนั้นมีครรภ์แก่ จึงให้สามีพาตนไปคลอดบุตรที่บ้านเกิด เพื่อหนีนางยักษิณี

       เมื่อนางยักษิณีรู้เข้า ก็รีบเดินทางตามไปทันที แต่หญิงนั้นคลอดบุตรแล้ว และกำลังจะเดินทางไปบ้านสามี ระหว่างทางได้แวะอาบน้ำที่ข้างวัดพระเชตวัน สามีก็ลงไปอาบน้ำ ส่วนตนยืนให้นมบุตรอยู่ริมฝั่ง เมื่อเห็นนางยักษิณี นางจำได้ จึงรีบวิ่งหนีเข้าไปในวัด ขณะนั้น พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัท นางได้อุ้มบุตรเข้าไปหาพระพุทธองค์ แล้ววางลงข้างพระบาท กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ขอถวายบุตรนี้แด่พระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดประทานชีวิต ให้แก่บุตรของข้าพระองค์ด้วยเถิด

       ฝ่ายนางยักษิณีไม่สามารถเข้าไปในวัดได้ เนื่องจากสุมนเทพผู้สถิตอยู่ที่ซุ้มประตูไม่อนุญาต พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้พระอานนท์เรียกนางยักษิณีเข้ามา เมื่อพร้อมหน้ากันแล้ว จึงตรัสถามว่า “เพราะเหตุใด พวกเธอจึงจองเวรกันอย่างนี้ ถ้าหากพวกเธอไม่มาพบเราแล้ว เวรของพวกเธอจะเป็นเช่นนี้อยู่ชั่วกัป เหมือนเวรของงูกับพังพอน ของหมีกับไม้ตะคร้อ ของกากับนกเค้า เพราะฉะนั้นจงเลิกจองเวรกันเถิด เพราะเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” เมื่อพระพุทธองค์ตรัสจบ นางยักษิณีได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทั้งสองก็เลิกจองเวรกัน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

       การจองเวรกันไม่ดีเลย จงให้อภัยซึ่งกันและกันเถิด อย่าได้เบียดเบียนกันเลย เราควรจะให้อภัยต่อผู้อื่นเสมอ ในยามที่เขาผิดพลาดล่วงเกินเรา เราก็ควรมีความปรารถนาดี มีจิตประกอบด้วยเมตตาธรรม แล้วพยายามปรับตัวเข้าหากัน ให้เหมือนน้ำที่ประสานแผ่นดินที่แยกแตกระแหงให้เป็นผืนแผ่นเดียวกัน ให้มีความรักความสามัคคี อย่าถือทิฐิมานะ ให้อะลุ่มอล่วยกัน ตามแบบอย่างของนักปราชญ์บัณฑิต แล้วทุกอย่างก็จะสงบลงได้

       การผูกโกรธผูกอาฆาตพยาบาท จะเป็นเหตุให้เราต้องหลงวนอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อเกิดมาพบกันอีก ก็จะคอยล้างผลาญกันร่ำไป เหมือนอย่างนางยักษิณีในเรื่องนี้ เพราะถูกกิเลสบังคับบัญชาให้สร้างกรรม เมื่อสร้างกรรมก็มีวิบากเป็นผล ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ความพินาศย่อยยับทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จึงไม่ผูกเวรกัน เพราะเบื่อหน่ายการเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในทะเลเพลิงแห่งความทุกข์

        ดังนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราระงับการจองเวร ในยามโกรธก็ให้มีสติ สงบระงับอารมณ์เอาไว้ อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ใช้สติและปัญญา แล้วแผ่เมตตาจิตไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย เราจะได้ไม่มีเวรมีภัยกับใคร ทรงสอนว่า

       “สัตบุรุษผู้มีความอดทน พึงได้ผล คือการไม่กระทบกระทั่ง เพราะสงบระงับจากเวร พระราชาพร้อมเหล่าเสนาแม้มาก เมื่อรบอยู่จะพึงได้ผลเช่นนั้นก็หาไม่ เพราะเวรทั้งหลาย ย่อมระงับได้ด้วยกำลังแห่งขันติ”

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๔๐ หน้า ๖๘

ที่มา - http://buddha.dmc.tv