กระแสแห่งเมตตาจิต

       ผู้ใดผูกอาฆาตว่า เขาได้ด่าเรา เขาได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา หรือได้ลักขโมยของเราไป เวรของผู้นั้นย่อมไม่สงบระงับ ส่วนผู้ใดไม่ผูกอาฆาตว่า เขาได้ด่าเรา เขาได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา หรือได้ลักขโมยของเราไป เวรของผู้นั้นย่อมสงบระงับ


       ผู้ให้ย่อมได้รับความสุข และความสุขที่เกิดจากการให้นั้น เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือน ความสุขที่เกิดจากการให้ความสุขต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเกิดจากพลังใจของเรา กลั่นออกมาเป็นมวลแห่งความบริสุทธิ์ ขยายออกไปยังมวลมนุษยชาติ ยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย เราจะสังเกตว่า ใจเราเริ่มมีความโล่ง โปร่ง เบา สบาย มีอาการรู้สึกโล่งเหมือนออกจากที่แคบมาสู่ที่กว้าง เราจะรู้สึกสดชื่น รู้สึกโปร่งเหมือนยืนอยู่บนยอดเขาที่มีแต่อากาศบริสุทธิ์ ไม่มีมลภาวะ เบาเหมือนปุยนุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ร่างกายเราเบาเหมือนจะลอยได้ และสบายเหมือนกับไม่มีตัวตน มีแต่ความสว่างโพลง ให้ใจนิ่งๆ รักษาอารมณ์สบายให้ต่อเนื่องให้นานที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

"อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ อชินิ มํ อหาสิ เม
เย จ ตํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ
อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ อชินิ มํ อหาสิ เม
เย จ ตํ นูปนยฺหนฺติ เวรํ เตสูปสมฺมติ

       ผู้ใดผูกอาฆาตว่า เขาได้ด่าเรา เขาได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา หรือได้ลักขโมยของเราไป เวรของผู้นั้นย่อมไม่สงบระงับ ส่วนผู้ใดไม่ผูกอาฆาตว่า เขาได้ด่าเรา เขาได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา หรือได้ลักขโมยของเราไป เวรของผู้นั้นย่อมสงบระงับ"

       การไม่ผูกอาฆาตพยาบาท รู้จักให้อภัย จะส่งผลให้เราเป็นบุคคลผู้มีใจสงบเยือกเย็น ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร การปฏิบัติธรรมให้ได้ผลดี เราจะต้องมีจิตประกอบด้วยเมตตา จิตใจจะได้ละเอียดอ่อน จะได้เข้าถึงธรรมอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ไม่ควรผูกโกรธ หรืออาฆาตพยาบาทใคร พึงรักษาใจให้สงบเยือกเย็น มีเมตตาจิตในสรรพสัตว์ทั้งหลาย หากทำอย่างนี้ได้จะทำให้ใจสงบเยือกเย็น มีความสุขกายสุขใจตลอดเวลา เมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น แทนที่จะมัวเสียเวลาเสียอารมณ์กับเรื่องราวหรือบุคคลเหล่านั้น เราก็นำใจของเรา กลับเข้ามาหยุดนิ่งอยู่ภายใน ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว

       ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก เราไม่มีเวลามากพอที่จะเสียไปกับเรื่องไร้สาระ เพียงแค่เราตามดูจิตของเรา ให้รู้เท่าทันกิเลส ไม่ให้ใจตกอยู่ในอารมณ์โลภ โกรธ หลง ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้ขุ่นมัว แค่นี้ก็หมดเวลาไปวันหนึ่งๆ แล้ว เพราะฉะนั้นอย่ามัวเสียเวลาขุ่นมัวกับคนรอบข้าง อย่าไปถือสาในความไม่สมบูรณ์ของเขา อะไรที่ให้อภัยได้ ก็ควรให้อภัยกัน ถ้าเรารู้จักปลดปล่อยวาง ใจของเราจะปลอดโปร่ง เบา สบาย เป็นเหตุให้เข้าถึงธรรมได้อย่างง่ายดาย

       * ในอดีต มีพระราชาแห่งแคว้นกาสี ทรงพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัตท่านทรงมีกำลังทรัพย์ กำลังคนและพาหนะมากมาย ส่วนแคว้นที่อยู่ใกล้กันชื่อว่า แคว้นโกศล มีพระราชาพระนามว่า ทีฆีติ ทรงมีกำลังน้อยกว่า พระเจ้าพรหมทัตได้ยกกองทัพไปโจมตีแคว้นโกศล ฝ่ายพระเจ้าทีฆีติเมื่อทราบข่าว ก็ดำริว่า “เมืองของเราเป็นเมืองเล็ก ไม่อาจจะต้านทานศึกครั้งนี้ได้ ถ้าเราฝืนต่อสู้ไป ผู้คนก็จะล้มตายกันมาก เราไม่อยากให้ใครต้องตาย ดังนั้น เราควรจะสละเมือง” แล้วทรงพาพระมเหสีหนีออกจากเมืองไปอยู่ในป่า อาศัยอยู่กับนายช่างหม้อ ทรงปลอมพระองค์เป็นปริพาชก อยู่มาไม่นาน พระมเหสีก็ตั้งครรภ์ ให้กำเนิดโอรสพระนามว่า ทีฆาวุกุมาร เมื่อเติบโตขึ้น ทรงส่งโอรสไปศึกษาศิลปวิทยาอีกเมืองหนึ่ง เพราะคิดว่าหากอยู่ด้วยกัน เมื่อมีภัยเกิดขึ้น ก็จะตายกันเสียทั้งหมด

       วันหนึ่ง อดีตนายช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติ เห็นพระเจ้าทีฆีติพร้อมพระมเหสีก็จำได้ว่า นี่คือพระราชาแห่งแคว้นโกศล แต่ด้วยความโลภอยากได้รางวัล จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลแก่พระเจ้าพรหมทัต

       พวกทหารของพระเจ้าพรหมทัต ได้มาจับพระเจ้าทีฆีติและพระมเหสีมัดกับเครื่องพันธนาการ แล้วนำออกประจานตามทาง ๔ แพร่ง ลงโทษอย่างแสนสาหัส บางทีก็เอาเชือกมัดมือทั้ง ๒ ข้าง กล้อนพระเกศา แล้วให้ม้าวิ่งลากไป ทั้งสองพระองค์ได้รับความทุกข์ทรมานมาก ในขณะนั้น ทีฆาวุกุมารซึ่งไปร่ำเรียนอยู่ที่ต่างเมือง เกิดความคิดถึงพระราชบิดาพระราชมารดา จึงกลับมาเยี่ยมที่บ้าน เมื่อไม่พบจึงตามเข้าไปในแคว้นกาสี ได้เห็นพระราชบิดาและพระราชมารดากำลังถูกพวกทหารประจาน ได้รับความทุกขเวทนาสาหัส จึงแหวกฝูงชนเข้าไปดูใกล้ๆ พระเจ้าทีฆีติเมื่อแลเห็นพระโอรส จึงตรัสขึ้นเพื่อให้ทรงได้ยินว่า “อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้ เพราะไม่จองเวร” พระองค์ได้ตรัสอย่างนั้นอยู่ ๒-๓ ครั้ง ทีฆาวุกุมารเป็นคนมีปัญญา จึงทรงอดทนยับยั้งไว้ เมื่อทหารนำทั้งสองพระองค์ตระเวนไปทั่วเมืองแล้ว ก็นำไปประหารชีวิต โดยบั่นพระวรกายเป็น ๔ ท่อน วารเรียงไว้ในหลุม ๔ ทิศ

       พระราชกุมารได้แอบเข้าไปนำพระศพมาถวายพระเพลิง จากนั้นทรงปลอมตัวเป็นเด็กชาวบ้านคนหนึ่ง เข้ามาอยู่ในเมืองของพระเจ้าพรหมทัต ได้มาฝากตัวทำงานอยู่กับคนฝึกช้าง ทุกเช้าก็จะดีดพิณขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะ พระเจ้าพรหมทัตตื่นจากบรรทม ได้สดับเสียงอันไพเราะนั้นแล้ว ทรงเกิดความพอใจ จึงให้นำเด็กเลี้ยงช้างมาเข้าเฝ้า เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุ ก็เกิดความเมตตารักใคร่ ทรงโปรดปรานมาก ได้แต่งตั้งให้เป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ ทีฆาวุก็ตั้งใจปฏิบัติราชการอย่างดี คอยสนองพระราชโองการด้วยดีตลอดมา

       วันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตโปรดให้ทีฆาวุกุมารเทียมราชรถ เพื่อเสด็จล่าเนื้อในป่า เมื่อเสด็จออกนอกเมือง ทีฆาวุบังคับม้าวิ่งไปด้วยความเร็ว เข้าไปในป่าลึก พวกทหารตามไม่ทัน จึงมีเพียงพระราชากับทีฆาวุเท่านั้น พระราชาทรงเหนื่อยล้า เมื่อหยุดรถแล้ว จึงบรรทมหลับบนตักของทีฆาวุ

       ในขณะนั้น ทีฆาวุกุมารระลึกถึงความแค้นในอดีตว่า “บ้านเมืองของเราถูกพระราชานี้ยึดไป แม้มารดาบิดาของเรา ก็ถูกพระราชาองค์นี้ฆ่า ถึงเวลาที่จะจัดการกับศัตรูแล้ว” จึงชักพระขรรค์ออกจากฝัก หมายจะแทงพระราชา แต่ในขณะเดียวกัน ก็ระลึกถึงโอวาทที่พระราชบิดาให้ไว้ก่อนสวรรคตว่า “อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น” จึงไม่อยากละเมิดคำของพระราชบิดา ได้สอดพระขรรค์เก็บเข้าที่เดิม ครู่หนึ่ง ความคิดอาฆาตได้ผุดขึ้นมาเป็นครั้งที่สอง พระกุมารก็ชักพระขรรค์ออกมาหมายจะฆ่าอีก แต่พอระลึกถึงโอวาทพระราชบิดาก็ยับยั้งเอาไว้อีก ทำอย่างนี้อยู่ถึง ๓ ครั้ง

       ขณะนั้นเอง พระเจ้าพรหมทัตตื่นจากบรรทมด้วยความหวาดผวา แล้วเสด็จลุกขึ้นอย่างผลุนผลันตรัสว่า ทรงฝันเห็นทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติ กำลังประหารพระองค์ด้วยพระขรรค์ จึงตกพระทัยตื่นขึ้น ทันใดนั้น ทีฆาวุได้จับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัต แล้วเอาพระขรรค์จ่อที่พระศอพร้อมกับประกาศว่า “เรานี่แหละ คือทีฆาวุกุมาร พระองค์ได้ทำความพินาศให้แก่มารดาบิดาของเรา บัดนี้ถึงเวลาที่จะได้ชำระโทษแล้ว” พระเจ้าพรหมทัตยิ่งตกพระทัยมากขึ้น ทรงหมอบลงแทบเท้าพระกุมาร แล้วร้องขอชีวิต ทีฆาวุจึงทูลว่า “ข้าพเจ้าถวายชีวิตแก่พระองค์ได้ แต่ขอให้พระองค์ได้ประทานชีวิตแก่ข้าพเจ้าเช่นกัน” พระเจ้าพรหมทัตจึงตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้ชีวิตแก่เรา แล้วเราก็จะให้ชีวิตแก่เจ้า” เป็นอันว่าทั้งสองฝ่ายให้ชีวิตแก่กันและกัน โดยจะไม่จองเวรกันอีก แล้วเดินทางกลับเข้าสู่พระนคร

       ครั้นเสด็จกลับเข้าไปถึงพระนคร ทรงมีรับสั่งให้ประชุมเสนาอำมาตย์ทั้งหมด แล้วได้ตรัสถามขึ้นในที่ประชุมว่า “ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเห็นทีฆาวุกุมาร ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าทีฆีติ จะทำอย่างไร” พวกอำมาตย์เหล่านั้นทูลว่า จะตัดมือบ้าง จะตัดเท้าบ้าง ตัดศีรษะบ้าง พระเจ้าพรหมทัตจึงตรัสขึ้นว่า “ท่านทั้งหลาย บุรุษนี้แหละคือทีฆาวุกุมาร แต่ว่ากุมารนี้ ใครๆ ไม่อาจจะทำอันตรายใดๆ ทั้งนั้น เพราะกุมารนี้ได้ให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ได้ให้ชีวิตแก่กุมารนี้” หลังจากนั้นทรงไต่ถามทีฆาวุกุมารว่า “ก่อนที่พระราชบิดาของเธอจะสวรรคต ได้ให้โอวาทแก่เธอว่า อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่เวรทั้งหลายย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวรนั้น หมายความว่าอย่างไร”

       ทีฆาวุกราบทูลว่า "อย่าเห็นแก่ยาว คือ อย่าทำการจองเวรกันให้ยืดเยื้อ เพราะเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร อย่าเห็นแก่สั้น คือ อย่าทำการแตกร้าวกับมิตรเร็วเกินไป ให้อดทน สงบเสงี่ยม" เมื่อพระราชาได้ฟัง ก็ทรงชื่นชมทีฆาวุกุมารว่า เป็นบัณฑิต เป็นผู้มีคุณธรรม มีปัญญา สามารถเข้าใจเนื้อความโดยย่อได้อย่างแจ่มแจ้ง

       ทีฆาวุกุมารคืออดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งที่ทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงสอนว่า “เธอทั้งหลายอย่าบาดหมางกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกัน พึงอดทนและสงบเสงี่ยม เพราะขันติ โสรัจจะ จะทำให้งามในธรรมวินัยนี้”

       พวกเราก็เช่นเดียวกัน ให้มีความอดทนและสงบเสงี่ยม เพราะความผูกโกรธผูกอาฆาตพยาบาทไม่ดีเลย เรายังต้องสร้างบารมีไปอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม เมื่อทำงานใหญ่ขึ้น อุปสรรคก็มีมาก ผู้ไม่เห็นด้วยเพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว การได้รับฟังคำถากถาง หรือถ้อยคำที่ทำให้เราหมดกำลังใจสร้างความดีนั้น เป็นเพียงเครื่องวัดความมีขันติและความสงบเสงี่ยมของเราว่า จะสามารถธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมข้อนี้ได้หรือไม่

       ดังนั้น ถ้าหากเราได้รับอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ ก็อย่าไปขุ่นมัวหรือขัดเคืองใจ ให้หมั่นแผ่เมตตาความปรารถนาดีของเราแก่คนอื่นและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยพลังมวลแห่งใจที่บริสุทธิ์ของเรานี้ จะสามารถเปลี่ยนความขุ่นมัวเป็นสดใสได้ อุปสรรคมีไว้ให้ข้าม ปัญหามีก็แก้กันไป ไม่ใช่แก้ด้วยการไปแก้แค้น หรือล้างแค้น แต่ให้แก้ไขด้วยการ ไม่สู้ ไม่หนี ทำความดีของเราเรื่อยไป และทำให้ยิ่งๆ กว่าที่ผ่านมา แล้วเราจะเป็นผู้ที่มีชัยชนะในตัวเอง ชนะใจคนทั้งโลก และแนะนำคนทั้งโลกให้เข้าสู่กระแสธรรมกันทุกคน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๗ หน้า ๔๕๙

ที่มา - http://buddha.dmc.tv