สันติภาพโลกเป็นจริงได้

       ท่านทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท จงตามคุ้มครองจิตของตน จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างที่ตกหล่ม ถอนขึ้นจากหล่มได้ฉะนั้น


       เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว พึงทำกิจในทางพระพุทธศาสนา ด้วยการทำความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า จะละโลกนี้ไปเมื่อใด สังขารร่างกายของเรา ถูกเผาผลาญด้วยไฟคือความแก่ ความเจ็บ และความตายอยู่ทุกวัน ไม่มีใครที่จะหลีกหนีกฎของไตรลักษณ์ได้ ทุกชีวิตต่างต้องเสื่อมสลายบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ดังนั้นจึงไม่ควรประมาทในชีวิต ให้เร่งสั่งสมความดี และฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย อันเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเราปลอดภัย แม้เวลาจะจากโลกนี้ไปก็มีความองอาจ และไปอย่างผู้มีชัยชนะ สมกับผู้มีธรรมะเป็นอาภรณ์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

“อปฺปมาทรตา โหถ สจิตฺตมนุรกฺขถ
ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร

       ท่านทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท จงตามคุ้มครองจิตของตน จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างที่ตกหล่ม ถอนขึ้นจากหล่มได้ฉะนั้น”

       โลกคือหมู่สัตว์นี้ ส่วนมากยังติดอยู่ในหล่มคือกิเลสอาสวะ สำหรับผู้ไม่ได้ฝึกใจให้สะอาดบริสุทธิ์เป็นประจำแต่ละวันยิ่งดูเหมือนว่า จะยิ่งติดหล่มลึกลงไปทุกที พระพุทธองค์ทรงแนะวิธีการถอนตัวขึ้นจากหล่มไว้ว่า จะต้องไม่ประมาท ให้หมั่นพิจารณาให้เห็นถึงทุกข์ และโทษของความประมาทว่าเป็นภัยสำหรับชีวิต เป็นประดุจตอในวัฏฏะที่จะมาขวางเส้นทางการทำความดีของเรา แล้วให้ตามรักษาจิตดวงนี้ รักษาไว้ให้อยู่ในต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่ตั้งถาวรของใจ เป็นแหล่งของสติ แหล่งของปัญญา

       การตามรักษาจิต คือไม่ให้ใจคิดไปในเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นบาปอกุศล ไม่คิดเบียดเบียนปองร้ายผู้อื่น ไม่โลภอยากได้ของเขา และให้มีความเห็นถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง มีความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม แล้วทำแต่สิ่งที่ดีๆ มีประโยชน์ หมั่นยกใจตนเองให้สูงขึ้น ด้วยการเจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนาทุกวัน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาใจได้ดีที่สุด และถูกต้องร่องรอยตรงตามคำสอนของพระบรมศาสดา ที่จะนำพาชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทาง สามารถถอนตนเองขึ้นมาจากหล่ม คือกิเลสอาสวะทั้งหลายได้

       ชีวิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นชีวิตอันอุดมที่จะสร้างโลกในอุดมคติให้เกิดขึ้น ซึ่งเราสามารถทำให้เป็นจริงได้ โดยเริ่มต้นจากตัวเรานี่แหละ ให้หมั่นรักษากายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกาย เราจะได้หายสงสัย แล้วจะได้ช่วยกันบอกทุกคนภายในครอบครัว ผู้ใกล้ชิดเรา ตลอดจนเพื่อนร่วมโลกทุกคน ให้เขารู้จักการทำใจให้หยุดนิ่ง แล้วสิ่งที่ใครๆ คิดว่าเป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นไปได้ เราจะมีโอกาสได้เห็นโลกเกิดความสงบสุขร่มเย็น ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี่แหละ

       * เหมือนอย่างพระบรมศาสดา สมัยที่ท่านบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น พระองค์ได้บังเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าพรหมทัตมีพระนามว่า ชนสันธกุมาร เมื่อทรงเจริญวัยแล้ว ทรงมีความเชี่ยวชาญในศิลปวิทยาทุกอย่าง หลังจากที่พระราชบิดาสวรรคต พระกุมารก็ได้ครองราชสมบัติ พระองค์ทรงเห็นคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ อีกทั้งปรารถนาจะให้โลกนี้ร่มเย็นเป็นสุข ให้เป็นโลกแห่งสันติภาพ แม้พระองค์จะมีความสามารถในการรบ แต่ก็ไม่ปรารถนาการรบ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรงรับสั่งให้สร้างโรงทานถึง ๖ แห่ง บริจาคพระราชทรัพย์วันละ ๖ แสน ทรงบำเพ็ญมหาทานบารมีจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป และมีรับสั่งให้เปิดประตูเรือนจำ ปลดปล่อยนักโทษให้เป็นอิสรภาพ ทรงทำการสงเคราะห์ชาวโลกด้วยสังคหวัตถุ ๔ คนยากจนเข็ญใจเมื่อมาในอาณาเขตของพระองค์แล้ว จะได้รับการช่วยเหลือทุกคน ทรงมุ่งขจัดทุกข์บำรุงสุข โดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง แนะนำให้ทุกคนรักษาศีล ๕ ทำให้พระองค์เป็นศูนย์รวมใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมหาชน

       ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระองค์จะสมาทานอุโบสถศีล และเชิญชวนให้มหาชนประพฤติธรรมตามพระองค์ ทรงรับสั่งให้ตีกลองป่าวประกาศให้ชาวพระนครทั้งหมดมาประชุมกันเพื่อฟังธรรม แล้วพระองค์ก็ประทับนั่งเป็นประธานแสดงธรรมให้มหาชนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พร้อมทั้งตรัสถึงเหตุที่ทำให้ไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลังว่า

       ไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยสูญเปล่า โดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย เมื่อยังเป็นหนุ่ม ให้เร่งรีบขวนขวายทำการงาน หารายได้ให้กับตนเอง และครอบครัว เพื่อจะได้ไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง และให้ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง เพราะจะทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือจากบุคคลอื่น และอย่าไปเบียดเบียนเข่นฆ่าให้ใครเดือดร้อน

       เมื่อเป็นมนุษย์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีใจสูง ควรมีความอดทน และเมตตาต่อสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า ให้ยินดีในคู่ครองของตนเอง ไม่เป็นคนแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น เพราะสักวันหนึ่ง คนอื่นจะนำความทุกข์กลับคืนมาให้เรา เหมือนกงจักรที่ขว้างออกไป ในที่สุดก็จะย้อนกลับมาหาตัวเรา

       ผู้ฉลาดควรหมั่นให้ทานอยู่เป็นนิตย์ ชีวิตจะได้ไม่ลำบากในภายหลัง อย่าเป็นคนตระหนี่ที่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลังว่า สมัยที่ยังมีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยให้ทานกับใครเลย ทำให้ต้องมาเป็นคนยากจนเข็ญใจ พึงดำรงตนอยู่ในสถานะของผู้ให้เสมอ และเมื่อได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาจนเติบใหญ่แล้ว ควรหาโอกาสตอบแทนท่าน ให้มีความกตัญญูกตเวที อยู่ในโอวาทของท่าน สมกับเป็นอภิชาตบุตร

       นอกจากนี้ พระราชายังทรงแนะนำให้มหาชนรู้จักเข้าหาสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เพราะท่านจะได้ชี้หนทางสวรรค์ และพระนิพพานให้กับเรา ให้หาโอกาสเข้าไปสนทนาธรรมกับท่านผู้ทรงศีล จะได้นั่งใกล้พระรัตนตรัย อันจะเป็นเหตุให้มีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูงยิ่งๆ ขึ้นไป

       เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นว่า ธรรมะอะไรที่จะอำนวยประโยชน์ให้กับชาวโลกได้ ท่านจะนำมาแสดงให้มหาชนฟังทุกๆ กึ่งเดือน มหาชนตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน บ้านเมืองในยุคสมัยนั้น จึงอยู่เย็นเป็นสุข ต่างคนต่างก็ขวนขวายทำความดี โจรผู้ร้ายก็ไม่มี ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ไม่มีการกระทบกระทั่งหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน เมื่อละโลกไปแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

       นักปราชญ์บัณฑิตในสมัยก่อน เขาฉลาดในการดำเนินชีวิต เมื่อได้เป็นผู้นำ ก็มุ่งนำมหาชนให้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า ให้เห็นประโยชน์ของการสั่งสมบุญว่าประเสริฐกว่าการได้ทรัพย์สินเงินทอง การแก่งแย่งชิงดีกัน ให้เห็นประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าความสุขส่วนตัว จะแนะนำไม่ให้ประมาทในชีวิต ให้เห็นคุณค่าของการได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างบารมี เมื่อทุกคนมีจิตสำนึกเหล่านี้เกิดขึ้น จะเป็นพลังหมู่ เกิดกระแสแห่งการทำความดีร่วมกันขึ้น จะมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน สันติสุขจะแผ่ขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

       ความปรารถนาให้โลกเกิดสันติสุขนี้ มีมาทุกยุคทุกสมัย พระบรมโพธิสัตว์ท่านสร้างบารมีก็เพื่อหวังจะให้โลกเกิดสันติสุขอันไพบูลย์ เกิดสันติภาพที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษยชาติใฝ่ฝัน เป็นความปรารถนาร่วมกันมายาวนาน แต่สันติภาพที่แท้จริงของโลกจะเกิดขึ้นได้ มีวิธีเดียวเท่านั้น คือต้องเข้าให้ถึงสันติสุขภายใน เข้าถึงพระธรรมกายในตัว ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความสุข และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๖๐ หน้า ๑๖๒

ที่มา - http://buddha.dmc.tv