บัณฑิตควรตักเตือนกัน ธรรมะ ประชาชน

       คนเราควรเตือนสติกัน ควรแนะนำกัน และควรห้ามปรามกันจากอกุศลกรรม คนที่ทำเช่นนั้น ย่อมเป็นที่รักของคนดี แต่ไม่เป็นที่รักของคนไม่ดี


       ธรรมดาของสรรพสัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อม แม้แต่ชีวิตของเราก็เสื่อมไปตามลำดับ จากวัยทารกไปสู่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน วัยชรา นั่นเป็นความเสื่อมที่เรามองเห็นได้ เราถูกความเสื่อมครอบงำแล้วนำไปสู่ความตาย คือในที่สุดต้องเสื่อมสลายไปสู่ความตายหมด เพราะฉะนั้นเราไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ควรมองให้เห็นโทษของความเสื่อม จะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นในโลกทั้งปวง แล้วมุ่งแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“โอวเทยฺยานุสาเสยฺย อสพฺภา จ นิวารเย
สตํ หิ โส ปิโย โหติ อสตํ โหติ อปฺปิโย

       คนเราควรเตือนสติกัน ควรแนะนำกัน และควรห้ามปรามกันจากธรรมของอสัตบุรุษ คนที่ทำเช่นนั้น ย่อมเป็นที่รักของคนดี แต่ไม่เป็นที่รักของคนไม่ดี”

       บรรดานักปราชญ์บัณฑิตในกาลก่อน ท่านเห็นความสำคัญของการแนะนำตักเตือนกันว่า เป็นเสมือนหนึ่งการชี้ขุมทรัพย์ บอกทางอันประเสริฐให้ และผู้ที่มีความกล้าหาญที่จะแนะนำตักเตือนผู้อื่นได้นั้น นอกจากจะต้องมีความปรารถนาดีอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ยังต้องอาศัยกำลังใจอย่างมากก่อนที่จะไปตักเตือนผู้อื่น ต้องอาศัยศิลปะในการพูดเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง หรือกระทบกระเทือนต่อจิตใจ ดังนั้นผู้ชี้ขุมทรัพย์ จึงเป็นเสมือนยอดกัลยาณมิตร ผู้ทำให้ใจของชาวโลกสว่างไสวด้วยแสงแห่งธรรม กัลยาณมิตรจึงเป็นบุคคลสำคัญของโลก เพราะนอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังต้องสามารถที่จะตักเตือนสั่งสอนผู้อื่นได้ดีอีกด้วย

       ส่วนผู้ที่ถูกตักเตือน ต้องเปิดใจให้กว้าง หากสิ่งที่เขาเตือนเป็นความจริง ต้องกล้ายอมรับ ไม่โกรธตอบ และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข ฝึกฝนอบรมตนเองตลอดเวลา แต่หากเขาเข้าใจผิดก็ต้องอดทน และหาโอกาสอธิบายให้เข้าใจในภายหลัง ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ทั้ง ๒ ฝ่าย คือผู้เตือน และผู้ถูกเตือน จะต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับฟังความเห็นของกันและกัน ไม่เอาอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวเป็นใหญ่ ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ให้เป็นธัมมาธิปไตย ยึดมั่นในธรรม ตัดสินกันด้วยเหตุด้วยผล อย่างนี้โลกจึงจะเกิดสันติสุขกันจริง

       ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ความสุขความสงบที่แท้จริง ก็จะเกิดขึ้น ใจเราจะกลับสู่ฐานที่ตั้ง คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะมีสติสัมปชัญญะ ยิ่งถ้าหมั่นตรึกระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญพุทธานุสติ นึกถึงองค์พระแก้วใสบริสุทธิ์ตลอดเวลา ใจเราจะถูกกลั่นให้สะอาด เราจะมีสติเป็นมหาสติ ปัญญาเป็นมหาปัญญา ไม่คิดพูดทำในสิ่งที่เป็นบาปอกุศล ใจจะเป็นบุญล้วนๆ อยู่กับธรรมะ อยู่กับพระธรรมกายภายใน และพบเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง

       * ดังเช่นสมัยที่พระพุทธเจ้าของเรากำลังสร้างบารมีเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่นั้น พระองค์ได้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีนามว่าสุชาติ ในครั้งนั้นท่านยังเป็นเด็ก แต่ว่าเป็นเด็กที่มีปัญญา ฉลาดหลักแหลมใฝ่รู้ใฝ่เรียน ไม่ว่าจะเรียนศิลปวิทยาเรื่องใด ก็จะแตกฉานในความรู้ที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน และที่เป็นอย่างนี้ เพราะว่าท่านสั่งสมปัญญาบารมี ได้เจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนามานับภพนับชาติไม่ถ้วน ใจของท่านจึงใสสะอาดบริสุทธิ์ ดวงปัญญาก็สว่างไสว ครั้นมาเกิดในชาตินี้ แม้จะมีอายุน้อย แต่เป็นใหญ่ด้วยปัญญา และคุณธรรม

       เมื่อคุณปู่เสียชีวิต บิดาของท่านมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ ใบหน้านองไปด้วยน้ำตา นัยน์ตาทั้งสองแดงก่ำ พร่ำเพ้อพิไรรำพันอยู่ตลอดเวลา เพราะคิดถึงคุณปู่ที่เพิ่งเสียชีวิตไป จึงละเลยกิจการงานของตนเอง แม้มารดาของพระโพธิสัตว์ก็หมดปัญญาที่จะทำให้บิดาคลายจากความเศร้าโศก แล้วกลับมาปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าครอบครัวที่ดีต่อไปได้

       จนกระทั่งวันหนึ่ง สุชาติหากุศโลบายที่จะทำให้บิดาคลายจากความเศร้าโศก เขาเดินออกไปนอกเมือง เห็นโคตัวหนึ่งนอนตายอยู่ จึงหอบเอาหญ้าที่ขึ้นริมทางมากองไว้ ยกภาชนะใส่น้ำสะอาดมาวางไว้ตรงหน้าโคที่ตาย แล้วกล่าวว่า “เจ้าจงกิน เจ้าจงดื่ม” เขาพูดซ้ำเช่นนี้จนกระทั่งผู้คนที่เดินผ่านไปมาเกิดความสงสัย จึงถามว่า “สุชาติ เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ ถึงได้นำหญ้าและน้ำมาให้โคที่ตายไปแล้วกิน” สุชาติไม่ได้โต้ตอบอะไร คนที่เดินผ่านไปมาคนแล้วคนเล่า ต่างสอบถามเขาด้วยคำถามเดิมๆ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด

       จนถึงเวลาพลบค่ำ ชาวบ้านพากันคิดว่าสุชาติคงเป็นบ้าไปแล้ว จึงช่วยนำเขากลับมาส่งที่บ้านพร้อมทั้งเล่าเรื่องทั้งหมดที่ชาวบ้านพบเห็น ให้บิดาของเด็กน้อยคนนี้ฟังโดยละเอียด

       บิดาฟังเรื่องราวดังนั้นแล้ว ก็คลายความโศกไปได้บ้าง จึงถามลูกชายว่า “เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงบังคับให้โคที่ตายแล้วให้กินหญ้ากับน้ำ เพราะถึงอย่างไรโคที่ตายแล้วย่อมไม่สามารถลุกขึ้นมากินได้ เมื่อก่อนนี้เจ้าเคยเป็นคนฉลาด รู้จักคิด เป็นบัณฑิต แต่ทำไมมาบัดนี้ เจ้าจึงไตร่ตรองไม่ได้ หรือเจ้ากลายเป็นคนบ้าไปแล้วจริงๆ ”

       สุชาติฟังแล้ว ก็นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วกล่าวด้วยความอาจหาญว่า “โคตัวนี้ ยังมีเท้าทั้ง ๔ ข้าง มีศีรษะ มีตัวพร้อมหาง และนัยน์ตา ลูกคิดว่า โคตัวนี้จะต้องลุกขึ้นกินหญ้าได้สักวันหนึ่ง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ลูกสงสัยนักหนาว่า ทั้งมือ เท้า ลำตัว และศีรษะของคุณปู่ แม้บัดนี้ก็มองไม่เห็น แต่คุณพ่อยังมาร้องไห้ถึงกระดูกของคุณปู่ที่บรรจุไว้ในสถูปดิน จะไม่เป็นการกระทำที่ไร้สาระหรือว่าเสียสติไปหรือ” คฤหบดีผู้เป็นพ่อฟังดังนั้นแล้วรู้ทันทีว่า บุตรของเราเป็นบัณฑิต เขาทำเหตุนี้เพื่อให้เราได้สติ จะได้เลิกเศร้าโศกเสียใจ แล้วกลับมาทำหน้าที่การงานเหมือนเดิม

       คฤหบดีได้กล่าวสรรเสริญบุตรชายเจ้าปัญญาว่า “สุชาติเอ๋ย บัดนี้พ่อรู้แล้วว่า สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา ตั้งแต่นี้ไปพ่อจะไม่เศร้าโศกเสียใจอีก แล้วจะตั้งใจทำกิจการที่พ่อสร้างไว้ให้สำเร็จด้วยดี” สุชาติฟังดังนั้นก็ดีใจที่พ่อจะกลับมาเป็นพ่อคนเดิม ตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าจะทำงานใด จะต้องมีสุชาติเป็นกัลยาณมิตรที่ใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา แล้วครอบครัวนี้ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

       ดังนั้น คนเราเมื่ออยู่ด้วยกัน ควรปฏิบัติต่อกันด้วยความปรารถนาดีเช่นนี้ ใครพลั้งพลาดไป เมื่อได้รับคำแนะนำตักเตือนก็ให้รีบปรับปรุงแก้ไข ส่วนผู้ที่จะเป็นกัลยาณมิตรคอยแนะนำตักเตือน ต้องมีศิลปะในการพูด คือทั้งชี้ข้อบกพร่อง ยกย่องชมเชยในสิ่งที่ดีงาม และสนับสนุนให้คนรอบข้างประกอบกรรมดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๗๑๓

ที่มา - http://buddha.dmc.tv