ควรพิจารณากิจของตน

        บุคคล ไม่ควรใส่ใจคำก้าวร้าวของคนอื่น ไม่ควรมองการงานของคนอื่น ว่าเขาทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ ควรพิจารณาดูแต่การงานของตน ที่ทำเสร็จแล้วหรือยังไม่ได้ทำเท่านั้น


        เราได้เหน็ดเหนื่อยกันมาตลอดทั้งวัน จากการประกอบธุรกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราได้ทำผ่านมาแล้ว ดังนั้น ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป เราจะได้ให้โอกาสแก่ตัวของเราเอง ในการแสวงหาสาระอันแท้จริงของชีวิต เพื่อเพิ่มเติมสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดให้กับชีวิตของเรา ด้วยการปฏิบัติธรรม ชีวิตจะได้ประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง เมื่อใจอยู่ในกระแสแห่งธรรม เราจะรู้สึกอิ่มเอิบ เบิกบานสดชื่น แจ่มใส คลายจากความเหน็ดเหนื่อยที่เราได้ตรากตรำกันมาตลอดทั้งวัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“น ปเรสํ วิโลมานิ น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย กตานิ อกตานิ จ

        บุคคล ไม่ควรใส่ใจคำก้าวร้าวของคนอื่น ไม่ควรมองการงานของคนอื่น ว่าเขาทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ ควรพิจารณาดูแต่การงานของตน ที่ทำเสร็จแล้วหรือยังไม่ได้ทำเท่านั้น”

         * ในสมัยพุทธกาล มีหญิงชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง เป็นผู้อุปัฏฐากดูแลปาฏิกาชีวก ซึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ด้วยความเคารพเลื่อมใสมาเป็นเวลานาน ได้อุปัฏฐากบำรุงอย่างดีเสมือนเป็นบุตรของตน แต่เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้น เป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา ก็มาพรรณนาถึงพระพุทธคุณด้วยความปลื้มปีติใจให้นางฟัง

        เมื่อนางได้ฟังถ้อยคำสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ่อยๆ เข้า เกิดอยากจะไปฟังธรรมบ้าง จึงได้เล่าให้อาชีวกฟัง อาชีวกรู้ทันทีว่าหากนางไปฟังธรรมแล้ว นางจะต้องเลื่อมใสในพระพุทธองค์ แล้วละทิ้งตนเองไปแน่นอน จึงห้ามนางไปวัดพระเชตวัน แม้นางจะอ้อนวอนหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

        นางจึงวางแผนว่าจะนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาฉันภัตตาหารที่บ้านแล้วฟังธรรม แทนการไปวัดพระเชตวัน ตกเย็นจึงเรียกบุตรชายให้ไปนิมนต์พระพุทธองค์มาฉันภัตตาหารที่บ้านในวันรุ่งขึ้น ระหว่างทางที่จะไปนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาต้องผ่านที่อยู่ของอาชีวก เมื่ออาชีวกรู้เรื่องเข้า ก็รีบห้ามปรามเอาไว้ เขาบอกว่า “ไม่ไปไม่ได้ เดี๋ยวคุณแม่จะโกรธเอา” อาชีวกจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ก็จงไปนิมนต์เถิด แต่อย่าบอกที่อยู่ให้พระสมณโคดมทราบ แล้วรีบกลับมา”

        เขารับคำอาชีวก แล้วออกเดินทางไปยังสำนักของพระบรมศาสดา กราบอาราธนาพระพุทธองค์ โดยทำตามที่อาชีวกแนะนำไว้ทุกประการ ก่อนถึงบ้านก็แวะไปส่งข่าวให้อาชีวก อาชีวกก็หัวเราะดีใจว่า พระพุทธองค์ไม่รู้ทาง คงมาไม่ถูกแน่ ฉะนั้นในวันรุ่งขึ้น ตนจะต้องได้ทานอาหารหวานคาวรสเลิศ ที่อุปัฏฐากจัดเตรียมไว้อย่างแน่นอน

        รุ่งเช้า อาชีวกรีบไปยังเรือนของอุปัฏฐาก นั่งอยู่ด้านหลังห้องที่เตรียมไว้ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนบ้านเมื่อทราบข่าวอันเป็นมงคลว่า พระบรมศาสดาจะเสด็จมา ต่างก็ปลาบปลื้มใจ ช่วยกันจัดหาข้าวปลาอาหารมาร่วมบุญด้วย บางคนที่ไปวัดบ่อยๆ รู้ธรรมเนียมของพระภิกษุ ก็ช่วยกันจัดแจงเสนาสนะ และสิ่งอันควรแก่สมณบริโภค บนถนนหนทางก็โปรยด้วยดอกไม้มีกลิ่นหอมนานาชนิด

        ธรรมดาแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงเป็นผู้รู้หนทางทุกสาย เพราะพระองค์ทรงมีสัพพัญญุตญาณแจ่มแจ้งในทุกเรื่อง อย่าว่าแต่หนทางในเมืองมนุษย์เลย ทรงรู้ยิ่งถึงทางไปนรก ทางไปกำเนิดในสัตว์เดียรัจฉาน ทางไปเป็นเปตวิสัย ทางไปบังเกิดในเทวโลก และทางไปอมตมหานิพพาน

        ทรงรู้ลึกซึ้งเข้าไปอีกว่า สัตว์ผู้ประกอบกรรมชั่วเช่นนี้จะไปสู่อบายภูมิ สัตว์ผู้ประกอบกรรมดีจะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ พรหม หรืออรูปพรหม สัตว์ผู้ดำเนินจิตเข้าสู่หนทางสายกลางภายใน ตัดกิเลสเครื่องข้องในโลกทั้งหมดได้ จะไปสู่อายตนนิพพาน ทรงรู้เห็นหนทางทั้งในภพและนอกภพ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบอกหนทางไปยังสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ตำบล หรือแว่นแคว้นใดทั้งสิ้น

        เช้าวันนั้น พระบรมศาสดาผู้เป็นบุคคลผู้เลิศในโลก ทรงถือบาตรและครองจีวร เสด็จมุ่งตรงไปยังประตูเรือนของมหาอุบาสิกา นางออกจากเรือนมาถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทูลอาราธนาให้เสด็จเข้าไปภายในบ้าน ให้ประทับนั่งบนอาสนะ ถวายน้ำทักษิโณทก และน้อมถวายภัตตาหารอันประณีตแด่พระองค์

        เมื่อพระบรมศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จ พระพุทธองค์ทรงกระทำอนุโมทนา และทรงแสดงธรรมด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด ถึงพร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะ อุบาสิกาตั้งใจฟังธรรมด้วยความซาบซึ้งดื่มด่ำอยู่ในรสแห่งธรรม พร้อมกับให้สาธุการเป็นระยะๆ ทุกครั้งที่เกิดความปีติในธรรม

        อาชีวกซึ่งนั่งฟังอยู่ในห้องด้านหลัง ได้ยินเสียงอุปัฏฐากของตนให้สาธุการเช่นนั้น ก็ไม่อาจจะอดทนต่อไปได้ เสมือนใครเอาหอกมาแทงที่หูทั้งสองข้าง รู้สึกกระสับกระส่ายจนนั่งไม่ติด คิดว่า ต่อนี้ไป นางคงจะเลิกนับถือเรา แล้วไปเป็นทายิกาของพระสมณโคดมแน่ จึงออกไปด่าอุบาสิกาและพระบรมศาสดาแล้วออกจากบ้านไปทันที

        อุบาสิกาได้ฟังดังนั้น รู้สึกไม่สบายใจ ไม่สามารถปล่อยใจไปตามกระแสธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง มีจิตใจฟุ้งซ่าน พระพุทธองค์ทรงรู้วาระจิตของอุบาสิกา จึงตรัสถามว่า “อุบาสิกา เธอไม่อาจควบคุมจิตใจของตนให้สงบได้หรือ” นางตกใจที่พระองค์ทรงล่วงรู้วาระจิต ทูลตอบว่า ตนกำลังมีความคิดสับสนวุ่นวายในเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสักครู่นี้

        พระบรมศาสดาตรัสว่า “เธอไม่ควรระลึกถึงถ้อยคำของคนที่ไม่เสมอกับเธอด้วยศีล ด้วยศรัทธาและด้วยจาคะ เธอควรตรวจดูกิจที่ทำแล้ว และยังไม่ได้ทำของตนเองเท่านั้น” เมื่ออุบาสิกาได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกสบายใจ จึงไม่คิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ได้ย้อนกลับมาพิจารณากิจของตนว่า วันนี้เรานิมนต์พระบรมศาสดามาฉันที่บ้าน เราก็ได้ถวายทานแล้ว เราอยากจะฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ ตอนนี้เราก็กำลังฟังอยู่ อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่าง เราจะฟังธรรมต่อไปโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น นางจึงได้น้อมใจฟังธรรม มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมาภิสมัย เป็นผู้มีความเลื่อมใสยิ่งในพระรัตนตรัย

        เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายต้องพิจารณาตนเอง อย่ามัวเสียเวลาไปเพ่งโทษคนอื่น หมั่นแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดี ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราตั้งใจแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ หรือทำแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ ก็ให้รีบขวนขวายลงมือกระทำ อย่ามัวผัดวันประกันพรุ่ง เพราะวันเวลาของชีวิตในโลกนี้มีน้อยนิด แค่เราพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตนเองอย่างเดียวก็หมดเวลาแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปคิดถึงถ้อยคำของคนอื่น ที่พูดวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา หาข้อสรุปอะไรไม่ได้ ฟังแล้วก็ไม่ช่วยให้พ้นทุกข์แต่อย่างใด

        ผู้มีปัญญาจึงไม่ควรเสียเวลากับการคิดเล็กคิดน้อยในเรื่องเหล่านี้ แต่จะมุ่งสร้างบารมีเรื่อยไป เพราะรู้ว่าทำดีย่อมได้ดี ทำบุญย่อมได้บุญ ดังนั้น บัณฑิตจะไม่หยุดยั้งในการสร้างบารมี แต่จะทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะถึงเป้าหมายคือที่สุดแห่งธรรม

        เหมือนอย่างหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดนข้อกล่าวหาหนักๆ ท่านก็ไม่เดือดร้อนใจอะไร ท่านเคยกล่าวว่า “คนเช่นเรา ใช่จะไร้ปัญญา ชั่วก็รู้ ดีก็เห็น เมื่อผู้ไม่รู้มาติเตียนเรา ความไม่รู้ของเขา จะลบล้างสัจธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร เมื่อเขาพูดสิ่งที่ไม่ดีได้ ก็ต้องมีคนพูดสิ่งที่ดีได้เหมือนกัน ธรรมะต้องชนะอธรรมเสมอ เราไม่เดือดร้อนใจเลย เพราะธรรมกายเป็นของแท้ ไม่ใช่ของเก๊หรือของเทียม เรื่องนี้เราไม่เคยหวั่นไหว เพราะเราเชื่อในคุณของพระพุทธศาสนา”

        เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะกล่าวหาอย่างไร ท่านไม่เคยหวั่นไหว แต่จะหยุดนิ่งเฉย หมั่นทำความดีเรื่อยไป เพราะเมื่อเราหยุดใจได้แล้ว เรื่องอื่นก็เป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องปลีกย่อย ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้ท่านสาธุชนทั้งหลายมีสติ รักษาใจให้หยุดนิ่งเอาไว้ อย่าได้หวั่นไหว อย่าได้ขุ่นมัว อย่าให้เรื่องที่ไม่เป็นสาระ มาเป็นอุปสรรคในการทำใจหยุดนิ่ง ทำใจให้เป็นกลางๆ ในเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อใจของเราจะได้มุ่งเข้าสู่หนทางสายกลาง เข้าถึงความจริงแท้ของชีวิต และเข้าถึงความสุขภายในกัน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๖๐

ที่มา - http://buddha.dmc.tv/