อยู่ไกลก็เหมือนใกล้

        พระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย พระธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย วิบากของบุคคลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอจินไตย ก็เป็นอจินไตย


        “ธรรมกาย คือตถาคต” ตถาคตเป็นชื่อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่เราระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยคุณความดีทั้งหลาย จะทำให้ใจเราผูกพันกับพระพุทธองค์ ใจจะผ่องใส ถ้านึกถึงท่านทุกวัน จะทำให้ดวงจิตบริสุทธ์ขึ้นทุกวัน ดวงจิตจะถูกเปลี่ยนแปลงให้บริสุทธิ์ขึ้นทุกวัน ยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ใจยิ่งมีอานุภาพ ความบริสุทธิ์เป็นทางมาแห่งมหากุศล ใจจะบริสุทธิ์ได้ ต้องหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้น การทำภาวนาจึงเป็นการชำระใจให้บริสุทธิ์ได้ดีที่สุด

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย อปาทาน ว่า

“เอวํ อจินฺติยา พุทฺธา พุทฺธธมฺมา อจินฺติยา
อจินฺติเยสุ ปสนฺนานํ วิปาโก โหตฺยจินฺติโย

        พระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย พระธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย วิบากของบุคคลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอจินไตย ก็เป็นอจินไตย”

        พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้วในทุกหนทุกแห่ง ทรงมีพระทัยยินดีในพระนิพพาน ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในสรรพสิ่งทั้งหลาย แม้พระองค์จะพรรณนาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันเอง จนกาลเวลาผ่านไปนับอสงไขย ก็ยังมิอาจจะพรรณนาได้หมด

        เนื่องจากพระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็เป็นอจินไตย ผู้ฟังธรรมแล้วปฏิบัติตามย่อมได้รับผลเป็นอจินไตย ผลบุญที่เกิดขึ้นย่อมมีอานิสงส์เป็นอจินไตย คำว่า "อจินไตย" หมายความว่า สิ่งที่ไม่ควรคิด เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งเกินกว่าวิสัยของปุถุชนจะคิดเองได้ คือไม่สามารถจะคำนวณนับได้ว่าบุญที่เกิดขึ้นมีประมาณเท่าใด ดังนั้นความรู้ในพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ของตื้นๆ เป็นธรรมที่ละเอียดลึกชึ้ง มีความลุ่มลึกเกินกว่าวิสัยของปุถุชนจะวินิจฉัย แต่อยู่ในขอบข่ายญาณทัสสนะของธรรมกายเท่านั้น

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสมบารมีมา ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป ตลอดระยะเวลาที่เป็นพระโพธิสัตว์ ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างบารมีโดยไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆ เป็นผู้มีปัญญาเลิศกว่าใครๆ ในอนันตจักรวาล ทรงใช้สติปัญญาความสามารถทุกอย่าง บำเพ็ญมหากุศลด้วยความชาญฉลาด เมื่อบารมีเต็มเปี่ยม ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ที่มีใจระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้อยู่ห่างไกลจากพระองค์เพียงใดก็ตาม ก็เสมือนอยู่ใกล้

        * ดังเรื่องของนาง “จูฬสุภัททา” ลูกสาวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางเป็นผู้มีความเลื่อมใสยิ่งในพระรัตนตรัย ต่อมานางมีครอบครัวจึงต้องไปอยู่กับสามีที่เมืองสาเกต แต่ตระกูลของสามีนับถือพวกชีเปลือย เพราะเข้าใจผิดว่าพวกชีเปลือยเป็นพระอรหันต์

        วันหนึ่ง พ่อสามีของนางได้เชิญพวกชีเปลือย ๕๐๐ คน มารับภัตตาหารที่บ้าน ตามปกติท่านเศรษฐีเป็นผู้ใจบุญอยู่แล้ว เพียงแต่ไปเลื่อมใสในนักบวชนอกพระพุทธศาสนาด้วยเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ เมื่อพวกชีเปลือยมาบ้านแล้ว ท่านเศรษฐีจึงส่งคนให้ไปเชิญลูกสะใภ้มาถวายอาหารแก่พวกชีเปลือยทั้ง ๕๐๐ คน

        เมื่อนางมาถึง เห็นชีเปลือยผู้ไม่มีความละอาย แสดงอาการไม่สำรวม นางรู้ทันทีว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่พระอรหันต์ จึงพูดกับพ่อสามีว่า “คุณพ่อ นี่ไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่เป็นชีเปลือยที่ไม่มีคุณวิเศษอะไร ภายในยังรกไปด้วยกิเลสอยู่เลย” ว่าแล้วนางก็เดินกลับเข้าไปในห้องพักอย่างสงบ

        พวกชีเปลือยฟังดังนั้นก็รู้สึกโกรธ ต่างพากันด่าว่าท่านเศรษฐีว่า “พาลูกสะใภ้ตัวกาลกิณีเข้ามาในบ้าน หญิงอื่นในโลกนี้มีมากมาย ทำไมไม่เลือกลูกสะใภ้ดีๆ เอาหญิงอัปมงคลคนนี้มาเป็นลูกสะใภ้ทำไม” แล้วชีเปลือยทั้งหมดก็ลุกออกจากบ้านท่านเศรษฐีไปด้วยความไม่พอใจ

        ส่วนเศรษฐีก็เสียความรู้สึกอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับโกรธเคืองลูกสะใภ้ เพราะท่านมีพื้นฐานใจดี จึงเข้าไปถามลูกสะใภ้ว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมลูกจึงพูดเช่นนั้นกับพระอรหันต์ล่ะ” นางตอบว่า “คุณพ่อ ธรรมดาของพระอรหันต์ ท่านไม่ประพฤติเช่นนี้ ปกติของสมณะผู้หมดกิเลสแล้ว ท่านไม่เป็นอย่างนี้หรอก”

        เศรษฐีถามต่อว่า “แล้วสมณะของลูกเป็นอย่างไรล่ะ ท่านมีความประพฤติอย่างไร ลองบอกให้พ่อฟังซิ” นางตอบว่า “ท่านเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ มีใจสงบ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันบริสุทธิ์ มีจักษุทอดลง พูดพอประมาณ เป็นผู้ยินดีในวิเวก มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ สมณะของลูกเป็นอย่างนี้ค่ะ”

        เศรษฐีฟังลูกสะใภ้พรรณนาคุณของสมณะในพระพุทธศาสนา บังเกิดความเลื่อมใส ปรารถนาจะถวายทานในวันรุ่งขึ้น จึงได้ขอร้องลูกสะใภ้ว่า “ถ้าเช่นนั้น พ่ออยากจะทำบุญกับสมณะของลูก พรุ่งนี้ขอให้ลูกนิมนต์สมณะเหล่านั้น มาที่บ้านเราด้วยเถิด”

        เย็นวันนั้น นางได้ถือพานดอกไม้ขึ้นไปชั้นบนสุดของปราสาท และระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย สอดส่องใจไปยังพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วโยนดอกไม้ ๘ กำ ขึ้นไปกลางอากาศ พร้อมกับอธิษฐานจิตว่า “วันพรุ่งนี้ ขอพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ได้โปรดมารับภัตตาหารที่บ้านของข้าพระองค์ด้วยเถิด”

        ด้วยพุทธานุภาพและด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย ดอกไม้นั้นได้ลอยไปอยู่เบื้องบนของพระทศพล ลักษณะคล้ายเพดานดอกไม้ทิพย์ พระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงทราบทันทีว่า นางจูฬสุภัททาได้นิมนต์พระองค์ในวันรุ่งขึ้นที่บ้านของพ่อสามีในเมืองสาเกด

        ขณะเดียวกันนั้นเอง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้มาที่วัดพระเชตวันเพื่อนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า “วันพรุ่งนี้จะต้องไปฉันภัตตาหารที่บ้านนางจูฬสุภัททา” ท่านเศรษฐีสงสัยว่า ตอนนี้ลูกสาวได้ย้ายไปอยู่เมืองสาเกตแล้ว เมืองสาเกตกับเมืองสาวัตถีห่างกันกว่าร้อยโยชน์ ตนยังไม่เห็นมีใครมานิมนต์พระองค์ ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสว่า ได้รับนิมนต์แล้ว

        เพื่อคลายความสงสัย พระบรมศาสดาจึงตรัสขึ้นว่า “ถูกแล้วท่านเศรษฐี อุบาสิกาผู้เป็นสัตบุรุษ แม้อยู่ไกลถึงร้อยโยชน์ พันโยชน์ ก็ย่อมปรากฏต่อเรา เหมือนภูเขาหิมพานต์ที่ตั้งอยู่ข้างหน้า” แล้วตรัสพระคาถาว่า

        “เหล่าสัตบุรุษปรากฏชัดในที่ไกล เหมือนหิมวันตบรรพต ส่วนเหล่าอสัตบุรุษ อยู่ที่นั่นเองก็ไม่มีใครเห็น เหมือนลูกศรที่ยิงไปเวลากลางคืน”

        พระศาสดาทรงรับสั่งให้พระอานนท์ ไปนิมนต์พระภิกษุผู้ได้อภิญญา ๖ เท่านั้น เพื่อไปฉันภัตตาหารที่เมืองสาเกตในวันรุ่งขึ้น

        คืนนั้นเอง นางจูฬสุภัททาเกิดวิตกขึ้นว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมมีกรณียกิจมาก เราจะทราบแน่ชัดได้อย่างไร ว่าพระพุทธองค์จะเสด็จมาในวันพรุ่งนี้ ขณะนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงรู้ถึงความวิตกของนาง และทรงรู้เรื่องการรับอาราธนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงมาบอกนางว่า “แม่นาง จงอย่าได้วิตกไปเลย พระผู้มีพระภาคเจ้ากับภิกษุสงฆ์ ทรงรับการนิมนต์ของเธอแล้ว” กล่าวจบก็หายตัวไปทันที นางได้ยินดังนั้น ก็มีใจร่าเริงยินดีมาก จึงรีบให้พวกพ้องบริวาร ช่วยกันตระเตรียมภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นด้วยความปีติโสมนัส

        ยามผู้มีบุญตั้งใจจะทำความดี แม้ท้าวสักกเทวราชก็มิอาจจะอยู่นิ่งเฉยได้ ทรงเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมา แล้วรับสั่งว่า “พระบรมศาสดาและพระสาวก ๕๐๐ รูป จะเสด็จไปยังเรือนของนางจูฬสุภัททา ท่านจงรีบไปเนรมิตมณฑปสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายเถิด”

        วันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยเหล่าภิกษุผู้ทรงอภิญญาจำนวน ๕๐๐ รูปได้เหาะไปยังเมืองสาเกต เพียงชั่วเวลาแค่ลัดนิ้วมือเดียวก็ถึงบ้านของนางแล้ว นางและพ่อสามีพร้อมด้วยบริวาร ได้ช่วยกันถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระสงฆ์สาวกด้วยความปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระบรมศาสดาทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดท่านเศรษฐีและบริวาร จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านเศรษฐีได้ถวายอุทยานของตนให้เป็นวัดมีชื่อว่า “กาฬการาม” เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาสืบไป

        เราจะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ประพฤติธรรมมีใจระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่ตลอดเวลา มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ย่อมมีกระแสใจเชื่อมโยงกับพระพุทธองค์ แม้จะอยู่ไกลกันเพียงใดก็เหมือนอยู่ใกล้ ระยะทางไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการสร้างความดี เพราะฉะนั้น ถ้าใจของเราไม่คลาดเคลื่อนจากศูนย์กลางกาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกาย ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ห่างไกลจากพระพุทธองค์ เสมือนหนึ่งได้อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดเวลา

        ดังนั้น เราควรจะระลึกถึงท่านไว้ในใจเสมอ เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี เหมือนอย่างนางจูฬสุภัททาที่นึกถึงพระพุทธองค์อยู่ตลอดเวลา และยังได้เป็นกัลยาณมิตรให้แก่พ่อของสามี แนะนําในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหากมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่องความเชื่อแล้ว อาจจะทำให้มีความเห็นผิดได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเข้มแข็งในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร เพราะกัลยาณมิตร คือแสงสว่างของโลกนั่นเอง

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๓๕ หน้า ๗๒

ที่มา - http://buddha.dmc.tv