ครุกรรม (๒)

       ผู้ใดไม่มีกรรมที่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ เราเรียกผู้นั้น ซึ่งสำรวมดีแล้ว โดยฐานะทั้งสามว่าเป็นพราหมณ์


       การเกิดมาเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นความโชคดีอย่างมหาศาล แต่การดำรงชีวิตอย่างมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงส่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย บุคคลใดก็ตามสามารถประคับประคองชีวิตของตนเองให้ไปตามครรลองคลองธรรม บนหนทางแห่งศรัทธาและสัมมาทิฏฐิ หมั่นสั่งสมบุญบารมีและปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนาเป็นประจำ บุคคลนั้นๆ ก็ได้ชื่อว่า เกิดมาใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าสมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ โอกาสทองของการทำความดีเป็นของเราทุกคน เพราะเราได้อัตภาพของกายมนุษย์ ซึ่งเป็นกายที่เหมาะสมต่อการสร้างบารมีได้มากที่สุด โลกมนุษย์นี้เหมือนกับเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างบุญและบาป หลวงพ่อขอย้ำตรงนี้เสมอๆ ก็เพราะต้องการจะให้ทุกท่านไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ยิ่งเราสร้างความดีให้เกิดขึ้นกับตัวเราได้มากเพียงใด นั่นคือกำไรของชีวิตที่จะทำให้เราปลื้มอกปลื้มใจ และบุญกุศลก็จะติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

“ยสฺส กาเยน วาจาย มนสา นตฺถิ ทุกฺกฏํ
สํวุตํ ตีหิ ฐาเนหิ ตมหํ พฺรูหิ พฺราหฺมณํ

       ผู้ใดไม่มีกรรมที่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ เราเรียกผู้นั้น ซึ่งสำรวมดีแล้ว โดยฐานะทั้งสามว่าเป็นพราหมณ์”

       ทางมาของกรรมชั่วโดยหลักใหญ่ๆ มีเหตุมาจาก ๓ ทางด้วยกัน คือ ทางกาย มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ทางวาจา ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ส่วนทางใจ คือ อภิชฌา การเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น พยาบาท ผูกใจเจ็บคิดประทุษร้ายผู้อื่น และมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม หากว่าเกิดมาแล้วใช้ชีวิตในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร กระทำผิดพลาดเป็นเหตุให้เกิดบาปอกุศล ส่วนทางมาของบุญกุศลนั้น ตรงกันข้ามกับบาปอกุศลดังที่กล่าวมาแล้ว กรรมที่เรากระทำไว้ย่อมให้ผลตามกำลังของกรรมนั้นๆ

       * กรรมที่ให้ผลเป็นอันดับแรก คือ ครุกรรมหรือกรรมหนัก ไม่ว่าชีวิตของเราจะสร้างบาปหรือบุญมามากน้อยเพียงไรก็ตาม หากพลั้งพลาดไปทำครุกรรมเข้า ผลกรรมอื่นๆ จะยังไม่ส่งผลทันที แต่ครุกรรมจะให้ผลก่อนเป็นอันดับแรก และครุกรรมยังแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง มีฝ่ายอกุศลและฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศลได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ คือมิจฉาทิฏฐิดิ่งและอนันตริยกรรม ในส่วนของอนันตริยกรรม ซึ่งได้อธิบายเรื่องมาตุฆาต ปิตุฆาต และอรหันตฆาตไปแล้ว ยังเหลืออีก ๒ อย่างคือ โลหิตุปบาท การทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท บุคคลใดมีใจบาปหยาบช้า ประกอบด้วยความหลงผิด คิดปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ลงมือทำร้ายพระองค์ท่านจนกระทั่งห้อพระโลหิต เหมือนอย่างที่พระเทวทัตกลิ้งก้อนหินใส่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พระองค์ได้รับบาดเจ็บ ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม

       ส่วนการทำสังฆเภท คือการทำให้พระสงฆ์แตกแยกกัน ทำสังฆมณฑลให้วุ่นวาย ไม่กระทำให้หมู่คณะมีความสามัคคีกัน การรวมสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันเป็นเรื่องใหญ่ แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ เพราะการปกครองสงฆ์นั้นมีความเป็นเอกภาพ โดยยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก แต่ผู้ไม่รู้ทั้งหลายก็คิดกันไปต่างๆ นานาว่า การรวมตัวกันของสงฆ์หรือพุทธบริษัท ๔ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล และยังเป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ดังนั้นผู้ที่ไม่เข้าใจ คิดกีดกันขัดขวาง ถือว่าเป็นการบั่นทอนความสามัคคีของพุทธบริษัท ๔ ทีเดียว และถือว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนในสัมปรายภพอีกด้วย อย่าได้ไปทำกัน

       ส่วนเรื่องสังฆเภทนั้น เป็นเรื่องของสงฆ์โดยตรง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าสังฆเภทนี้ภิกษุณีก็กระทำไม่ได้ นางสิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ก็ไม่อาจที่จะกระทำได้ พระภิกษุที่มีความปกติ มีสังวาสเสมอกัน และอยู่ในสีมาเดียวกันเท่านั้นจึงจะทำสังฆเภทนี้ได้ จากพระดำรัสนี้ ทำให้เรารู้อย่างแจ่มชัดว่า การจัดสังฆเภทเป็นหนึ่งในอนันตริยกรรมนั้นหมายเอาเฉพาะแต่พระภิกษุกระทำต่อกันเท่านั้น ส่วนผู้อื่นนอกจากนั้นที่คอยยุแหย่ใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ เป็นการแสดงออกที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล และยังไม่จัดเป็นอนันตริยกรรม แต่ถ้าภิกษุรูปใดพลาดพลั้งไปทำก็เป็นบาปอย่างมหันต์ เป็นกรรมที่หนักมาก จะต้องได้รับผลของกรรมที่ทำนี้ก่อนอื่นเลยทีเดียว

       กิริยาอาการของการทำสังฆเภทนั้น ต้องมีองค์ประกอบ ๕ ประการครบถ้วน ความเป็นสังฆเภทจึงจะเกิดขึ้น

       ข้อที่ ๑ คือ กล่าวยุยงให้พระภิกษุสงฆ์หลงเชื่อถ้อยคำของตน โดยให้แยกทำสังฆกรรมต่างหาก

       ข้อที่ ๒ คือ กล่าวยุยงให้หมู่สงฆ์แยกสวดพระปาติโมกข์ต่างหาก

       ข้อที่ ๓ กล่าวเภทกรวัตถุ ๑๘ อย่าง เภทกรวัตถุ คือ เรื่องราวที่ทำให้แตกแยกกัน มีอยู่ ๑๘ ประการ คือ กล่าวสิ่งที่ไม่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม กล่าวสิ่งที่เป็นธรรมว่าไม่เป็นธรรม กล่าวสิ่งที่ไม่เป็นวินัยว่าเป็นวินัย กล่าวสิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย กล่าวสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าไม่ได้ตรัส กล่าวสิ่งที่พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสไว้ว่าตรัสไว้ สิ่งที่พระพุทธองค์เคยกระทำมาก็บอกว่าไม่ได้ทำ สิ่งที่พระพุทธองค์ไม่ได้ทำก็บอกว่าได้ทำ สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ก็บอกว่าไม่ได้บัญญัติไว้ แต่สิ่งที่ไม่ได้ทรงบัญญัติกลับบอกว่าทรงบัญญัติ วัตถุที่เป็นอาบัติก็บอกว่าวัตถุนี้ไม่เป็นอาบัติ วัตถุที่ไม่เป็นอาบัติก็บอกว่าเป็นอาบัติ ที่เป็นอาบัติเบาก็บอกว่าเป็นอาบัติหนัก ที่เป็นอาบัติหนักกลับบอกว่าเป็นอาบัติเบา อาบัติที่พอจะแก้ไขได้ก็บอกว่าแก้ไขไม่ได้ อาบัติที่แก้ไขไม่ได้ก็บอกว่าเป็นอาบัติที่แก้ไขได้ อาบัติที่ชั่วหยาบกลับกล่าวว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ และข้อสุดท้าย อาบัติที่ไม่ชั่วหยาบกลับกล่าวว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ๑๘ อย่างนี้คือเรื่องที่เป็นเหตุให้สงฆ์แตกกัน

       ข้อที่ ๔ กล่าวมีลับลมคมนัย ปรึกษาหารือกันลับๆ แล้วก็หาพวกให้มาลุ่มหลง เชื่อถือในถ้อยคำของตน

       ข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นประการสุดท้าย คือ การเขียนสลากให้จับด้วยวัตถุประสงค์ให้ภิกษุที่เข้ากับตนเองสนับสนุนและถือมั่นอยู่ในโอวาท แม้การทำอย่างนี้ ก็ไม่โปร่งใส เป็นการหาเสียงข้างมากที่ไม่เป็นธรรม พระภิกษุที่จงใจทำสังฆเภทและได้กระทำเหตุครบ ๕ ประการนี้ จัดเป็นอนันตริยกรรมที่หนักที่สุด ที่หนักรองลงมาก็คือ โลหิตุปบาท อรหันตฆาต มาตุฆาต ปิตุฆาต ตามลำดับ นี้เป็นครุกรรมฝ่ายอกุศล

       ต่อมาก็ครุกรรมฝ่ายกุศล ซึ่งเป็นมหัคคตกุศล คือเป็นกุศลที่ใหญ่ที่มีอานิสงส์มาก เป็นเรื่องของการทำสมาธิภาวนา ได้แก่ รูปกุศล ๕ ประการและอรูปกุศล ๔ ประการ อันเป็นกุศลที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา รูปกุศล ๕ ประการ ได้แก่ ปฐมฌานกุศล ทุติยฌานกุศล ตติยฌานกุศล จตุตถฌานกุศล และปัญจมฌานกุศล อรูปกุศล ๔ ประการ ได้แก่ อากาสานัญจายตนกุศล วิญญาณัญจายตนกุศล อากิญจัญญายตนกุศล เนวสัญญานาสัญญายตนกุศล ชั้นนี้เรียกว่า ฌานลาภีบุคคล คือ ผู้ได้ฌาน เข้าถึงอารมณ์ของฌานสมาบัติและอรูปฌานสมาบัติ

       ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมอย่างที่หลวงปู่วัดปากน้ำท่านได้เข้าถึง เราจะหายสงสัยในสภาวธรรมที่หลวงพ่อได้กล่าวมาข้างต้น เพราะมันไม่ได้ยุ่งยากอะไร ถ้าเราเข้าถึงสภาวธรรมภายใน ตั้งแต่ปฐมมรรคเรื่อยไป จนเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม และกายอรูปพรหม เราจะเข้าใจเรื่องของรูปฌานสมาบัติ และอรูปฌานสมาบัติ ซึ่งเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่เราสามารถทำได้ เพราะนี่เป็นแค่เบื้องต้นของความรู้ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ยังมีเรื่องต่างๆที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นอีก เลยอรูปฌานสมาบัติไปก็เข้าถึงกายธรรมโคตรภู ถัดไปอีกเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคมี จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งทุกข์เป็นพระอรหันต์

       ครุกรรมฝ่ายกุศลมีความลึกซึ้ง แต่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง ถ้าทำได้อย่างนี้เป็นมหัคคตกุศลทีเดียว เป็นครุกรรมฝ่ายบุญที่จะให้ผลเป็นอันดับแรก ดังนั้นการเจริญสมาธิภาวนาเป็นกิจที่ทุกท่านต้องทำ แล้วต้องทำให้มากๆด้วย เพราะสิ่งนี้จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกช่วยประคับประคองชีวิตของเราให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต ถ้าเข้าถึงกายธรรมอรหัตได้ ถือว่าเป็นสุดยอดของครุกรรมฝ่ายกุศล ฉะนั้นเราต้องเข้าถึงกันให้ได้ นี้เป็นเป้าหมายหลักของชีวิตทุกๆคน

       เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นครุกรรมทั้งฝ่ายกุศลหรืออกุศล เป็นสิ่งที่ควรรับรู้รับทราบทำความเข้าใจเอาไว้ แล้วตั้งใจมั่นไปเลยว่า ต่อจากนี้ไป เราจะต้องสั่งสมเฉพาะครุกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น โดยไม่ไปเสียเวลากับสิ่งไร้สาระ ที่เป็นอกุศล สิ่งที่ดึงเราลงไปสู่ที่ต่ำ ทำให้ชีวิตเรามัวหมอง ให้หันมาสร้างบารมี มาทำใจหยุดใจนิ่งให้เต็มที่ ให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ในชาตินี้ ตั้งใจอย่างนี้กันแล้วเราจะสมหวัง ขอเพียงมีการเริ่มต้น ความสำเร็จก็ใกล้เข้ามาแล้ว เมื่อมีก้าวแรกก็จะก้าวต่อๆ ไปไม่สิ้นสุด จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ดังนั้นให้หมั้นตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาให้มากๆ จะได้เป็นมหัคคตกุศล ติดในกลางใจของเราไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* กรรมทีปนี (พระพรหมโมลี)

ที่มา - http://buddha.dmc.tv