ประโยชน์ - ลำใย


ลำไย ผลไม้มีประโยชน์
       ลำไย ผลไม้ที่ทุกคนรู้จักกันดี นอกจากจะนิยมรับประทานเป็นเนื้อลำไยสดแล้ว ยังรับประทานในรูปของผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น เนื้อลำไยอบแห้ง ลำไยกระป๋อง น้ำลำไย เป็นต้น 

       ประโยชน์ของการรับประทานลำไยมีมากกว่าที่คิด จากข้อมูลงานวิจัยชุดโครงการ Thai Fruit Functional Fruit สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า ลำไยเป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด เช่น โพลีฟีนอลิค ฟลาโฟนอยและโพลีแซคคาไรด์ รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่จำนวนมาก หากรับประทานเนื้อลำไยสด ท่านจะได้รับประโยชน์จากสารออกฤทธิ์ ดังตารางต่อไปนี้

สารสำคัญ ปริมาณมิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ลำไยกะโหลกเบี้ยว 12 ผล)

Polyphenolic 86
Tannin 4.8
Catechin 0.1
Phytate 0.1
ใยอาหารทั้งหมด 0.6
ใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ 0.5*
ใยอาหารที่ละลายน้ำ 0.1*
*กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค แหล่งที่มาเอกสารอ้างอิง : ริญ เจริญศิริ รัชนี คงคาฉุยฉาย.โภชนาการกับผลไม้ไทย

       นอกจากนี้ลำไยยังเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ เนื่องจากมีสารโภชนาการหลัก ได้แก่ น้ำตาลรีดิวซ์ โปรตีน คารโบไฮเดรท วีระ สหชัยเสรี และคณะ รายงานว่า ลำไยสีชมพูมีปริมาณโปรตีนและน้ำตาลมากที่สุด คือ 8.5 กรัม/กิโลกรัม และ 52.4 กรัม/กิโลกรัม ลำไยอีดอมีปริมาณคาร์โบไฮเดรทมากที่สุด คือ 885.2 กรัม/กิโลกรัม และลำไยยังเป็นผลไม้ที่มีปริมาณวิตามินซีมากที่สุดเมื่อเทียบกับลิ้นจี่และเงาะ

       ลำไยมีสารกลุ่มโพลีฟีนอลิค คือ กรดแกลลิค โคริลาจินและกรดอีลลาจิก สารทั้ง 3 ชนิดนี้มีปริมาณแตกต่างกันตามส่วนต่างๆ ของผลลำไยและสายพันธุ์ โดยในเมล็ดลำไยพบสารดังกล่าวนี้มากที่สุด และเนื้อลำไยมีน้อยที่สุด จากกรทดลองพบว่าสารสกัดเมล็ดและเนื้อลำไยช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วยนอร์อีพิเนฟริน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ และคณะ รายงานการวิจัยว่า สารสกัดจากส่วนเนื้อลำไยอบแห้งหรือเมล็ดลำไยแห้งมีคุณสมบัติต้านการเกิดมะเร็งและมีแนวโน้มป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

       สรุปว่า การรับประทานลำไยลำไยจะทำให้ได้พลังงานสูง เนื่องจากมีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรทในปริมาณมาก นอกจากนี้การรับประทานลำไยยังได้รับวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินซี โปแตสเซียม (K) และทองแดง (Cu) อย่างไรก็ตามผู้ที่ควบคุมน้ำหนักตัวและผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ควรรับประทานลำไยในปริมาณมากเกินไป เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัด

ที่มา - http://www.kehakaset.com