ชนะด้วยเมตตา

       ผู้ใดให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อในเวลาเช้า ให้ทานอีก ๑๐๐ หม้อในเวลาเที่ยง และให้ทานอีก ๑๐๐ หม้อในเวลาเย็น ยังมีผลน้อยกว่าผู้เจริญเมตตาจิต แม้เพียงชั่วระยะเวลาแห่งการหยดของน้ำนมจากแม่โค


       ร่างกายที่เราต้องใช้ในการประกอบภารกิจการงานทุกวัน มีความจำเป็นต้องชำระล้างให้สะอาดด้วยน้ำ ฉันใด จิตใจจำเป็นต้องชำระล้างให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการเจริญภาวนา ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทให้หมั่นเจริญภาวนา ทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของใจว่า ใจที่ผ่องใสย่อมเป็นเหตุนำความสุขมาให้ และเป็นทางมาแห่งมหากุศลอันจะนำทุกชีวิตไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน โอกขาสูตร ความว่า

       “ผู้ใดให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อในเวลาเช้า ให้ทานอีก ๑๐๐ หม้อในเวลาเที่ยง และให้ทานอีก ๑๐๐ หม้อในเวลาเย็น ยังมีผลน้อยกว่าผู้เจริญเมตตาจิต แม้เพียงชั่วระยะเวลาแห่งการหยดของน้ำนมจากแม่โค”

        การเจริญเมตตา แม้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ยังมีอานิสงส์มากกว่าการให้ทาน เพราะจิตของผู้ที่ประกอบด้วยเมตตาธรรม เป็นจิตที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส จึงมีอานุภาพหาประมาณมิได้ ผู้ที่เจริญเมตตาอยู่เสมอ ย่อมได้รับความสุขกายสุขใจ จะมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส ภัยใดๆ ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ จิตของบุคคลผู้เต็มเปี่ยมด้วยเมตตา ย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ทำให้รู้แจ้งแทงตลอดในคุณวิเศษได้โดยง่าย จะเป็นที่รักของมนุษย์ และอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาจะปกป้องคุ้มครองรักษาให้อยู่เป็นสุข

       * ในสมัยพุทธกาล เมื่อเมืองภัททวดีได้ประสบกับภัยพิบัติ เศรษฐีท่านหนึ่งได้พาภรรยาและลูกสาว เดินทางรอนแรมไปขอความช่วยเหลือจากโฆสกเศรษฐี ซึ่งเป็นสหายที่เมืองโกสัมพี แต่ด้วยความบอบชํ้าจากการเดินทางไกล อีกทั้งไม่ได้รับประทานอาหารมาหลายวัน ท่านเศรษฐีจึงได้เสียชีวิตในวันแรกที่ไปถึงเมืองโกสัมพี โดยยังไม่ทันได้พบกับโฆสกเศรษฐีผู้เป็นสหายรัก

       ในวันต่อมาภรรยาของท่านเศรษฐี ก็เสียชีวิตตามไปอีกคน คงเหลือแต่ลูกสาวชื่อสามาวดีเพียงคนเดียว ต่อมาเมื่อโฆสกเศรษฐีพบกับสามาวดี ได้สอบถามประวัติกันดูแล้วรู้ว่าเป็นลูกสาวของสหาย และด้วยความชื่นชมในปัญญาของนางด้วย จึงรับไว้เป็นลูกสาวของตน ภายหลังสามาวดีได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน ซึ่งเป็นพระราชาแห่งกรุงโกสัมพี และเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพราะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาที่สาวใช้นำมาถ่ายทอดให้ฟัง จนได้บรรลุธรรมเป็นโสดาบัน

       พระเจ้าอุเทน ท่านมีอัครมเหสีอีกองค์หนึ่งชื่อมาคัณฑิยา ซึ่งผูกอาฆาตพระบรมศาสดามาเป็นเวลาช้านาน ครั้นพระนางมาคัณฑิยารู้ว่า พระนางสามาวดีและบริวาร เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เกิดความไม่พอใจ และคิดจะทำลายพระนางสามาวดีด้วย จึงกราบทูลยุยงพระราชาว่า “พระนางสามาวดีกับบริวารไม่ได้มีความรักในพระองค์เลย พวกเธอมีใจฝักใฝ่ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงขนาดเจาะฝาผนังห้อง เพื่อจะได้แลเห็นพระพุทธองค์ได้ถนัด” พระราชาสดับแล้วก็ทรงนิ่งเฉยไม่ทรงเชื่อพระนางมาคัณฑิยา

       เมื่อแผนยุยงให้พระราชาเข้าใจผิดไม่ได้ผล พระนางมาคัณฑิยาจึงดำเนินแผนขั้นต่อไป โดยกราบทูลพระราชาว่า “ถ้าหากพระองค์ไม่เชื่อ ขอให้พระองค์ทดลองส่งไก่ ๘ ตัวไปให้พระนางสามาวดี เพื่อปรุงพระกระยาหารมาถวายพระองค์ แล้วพระองค์จะทรงทราบว่า เธอยังมีความรักในพระองค์หรือไม่” เมื่อพระองค์ทรงอนุญาตให้ทำตามนั้น พระนางมาคัณฑิยาส่งไก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ๘ ตัวไปให้พระนางสามาวดีเพื่อปรุงพระกระยาหารถวายพระราชา

       เนื่องจากพระนางสามาวดีเป็นโสดาบันย่อมมีปกติไม่ฆ่าสัตว์ จึงตรัสปฏิเสธไป พระนางมาคัณฑิยาจึงทูลพระราชา ให้ทรงทดลองอีกครั้งหนึ่ง โดยให้พระนางสามาวดีปรุงภัตตาหารไปถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คราวนี้พระนางมาคัณฑิยาให้คนนำไก่ที่ตายแล้ว ไปให้พระนางสามาวดีตามแผนการที่วางไว้

       พระนางสามาวดีเห็นว่า ไก่ตายแล้วจึงนำมาปรุงอาหาร แล้วส่งไปถวายพระพุทธองค์ พระนางมาคัณฑิยาจึงได้โอกาส กราบทูลยุยงซํ้าว่า “พระองค์ทรงดูเถิด นางสามาวดีมิได้มีความรักในพระองค์เลย นางไม่ยอมทำอาหารมาถวายพระองค์ แต่กลับยินดีที่จะทำอาหารไปถวายพระสมณะโคดม” พระราชาก็ยังคงนิ่งเฉยเช่นเดิม

       เมื่อให้ร้ายไม่สำเร็จ พระนางมาคัณฑิยาจึงหาอุบายต่อไปอีก โดยแอบนำงูพิษใส่ไว้ในรางพิณของพระราชา แล้วปกปิดไว้ด้วยช่อดอกไม้ เมื่อพระราชาจะเสด็จไปยังที่พักของพระนางสามาวดี แสร้งทูลทัดทานไม่ให้เสด็จไป แต่เมื่อพระองค์ยังทรงยืนยันว่าจะไป นางจึงขอตามเสด็จไปด้วย

       เมื่อไปถึงตำหนักของพระนางสามาวดี ในขณะที่พระราชาทรงพักผ่อนอยู่นั้น พระองค์ได้วางพิณไว้ใกล้ๆ ตัว พระนางมาคัณฑิยาหาโอกาสเปิดช่องรางพิณที่ปิดไว้ ขณะนั้นเองงูพิษซึ่งอดอาหารมาหลายวันก็เลื้อยออกมา นางแกล้งส่งเสียงร้องแสดงความตกใจ พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงตกพระทัย และพิโรธเป็นอย่างยิ่ง ทรงเข้าพระทัยผิดว่า พระนางสามาวดีปล่อยงูพิษเพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์

       พระนางสามาวดี รู้ว่าพระราชากริ้วเพราะเข้าพระทัยผิด จึงรับสั่งกับหญิงบริวารว่า “ขณะนี้ ที่พึ่งอื่นของพวกเราไม่มี ขอให้พวกเราจงแผ่เมตตาจิตอันไม่มีประมาณไปยังพระราชา พระนางมาคัณฑิยา และในตนเองอย่างเสมอกัน อย่าได้มีความโกรธเคืองในผู้ใดเลย” พระราชารับสั่งให้พระนางสามาวดี และหญิงบริวารทั้งหมด ยืนเรียงเป็นแถวเดียวกัน พระองค์ทรงโก่งคันธนูขึ้น แล้วยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ หมายจะให้ทะลุนางสามาวดี และบริวารทั้ง ๕๐๐ คนในคราวเดียว ด้วยพระกำลังมหาศาลของพระองค์

       ด้วยอานุภาพแห่งความเมตตาที่แผ่ออกไป ทำให้ลูกศรที่ยิงตรงไปข้างหน้า ได้วกกลับมาหาพระราชา พระราชาทรงตกพระทัยว่า กำลังของลูกศรที่เรายิงไปนี้ แม้แต่แผ่นศิลาก็ยังไม่อาจต้านทานได้ แต่ครั้งนี้ทำไมลูกศรจึงวกกลับมาหาเราเหมือนมีชีวิต ลูกศรนี้แม้ไม่มีชีวิตจิตใจ ยังรู้ถึงคุณธรรมความดีของนางสามาวดี แต่ตัวเราเป็นมนุษย์กลับไม่รู้เลย พระราชาทรงวางคันธนูลง แล้วขอพระนางสามาวดียกโทษให้ และขอให้นางเป็นที่พึ่งของพระองค์ด้วย

       พระนางสามาวดีกราบทูลว่า “พระองค์อย่าได้ยึดเอาหม่อมฉันเป็นที่พึ่งเลย ขอพระองค์จงขอถึงพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นที่พึ่งเถิด” พระราชาจึงเสด็จไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ขอถึงพระองค์เป็นที่พึ่ง และทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์เสด็จมารับบิณฑบาต และแสดงธรรมในพระราชวัง ซึ่งพระบรมศาสดาทรงรับสั่งให้พระอานนท์ ทำหน้าที่นี้แทนพระองค์ในครั้งนั้น

       จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความเมตตามีอานุภาพสุดประมาณ กระแสแห่งความเมตตาจะสามารถปกป้องผองภัยทั้งหลายได้ ผู้ที่แผ่เมตตาเป็นประจำสม่ำเสมอ อันตรายใดๆ จะไม่มากลํ้ากราย จะเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวาทั้งหลาย ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราหัดคิด พูด และทำด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาต่อทุกๆ คน ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย แล้วเราจะได้รับความสุขอันยิ่งใหญ่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเลยในชีวิต

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๓๓ หน้า ๑๑๒

ที่มา - buddha.dmc.tv